ล่าสุดทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยโตเกียว ค้นพบแนวทางใหม่ในการเพิ่มประสิทธิภาพการรักษามะเร็งแบบ BNCT (Boron Neutron Capture Therapy) ให้ได้ผลมากขึ้น ด้วยการใช้ส่วนผสมที่อยู่ใน ‘กาวน้ำ’ อย่าง โพลีไวนิลแอลกอฮอล์ (PVA)
การรักษาแบบ BNCT คืออะไร ?
BNCT (Boron Neutron Capture Therapy) เป็นเทคโนโลยีการรักษามะเร็งเฉพาะจุดที่มีศักยภาพสูง มักใช้กับการรักษาบริเวณศีรษะและลำคอ โดยจะฉีดสารโบรอน (Boron) เข้าไปในร่างกาย เพื่อให้เซลล์มะเร็งดูดซึมเข้าไปเก็บสะสมไว้ จากนั้นก็ฉายรังสีนิวตรอน เพื่อทำให้โบรอนเกิดปฏิกิริยาทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็ง โดยสร้างความเสียหายให้กับเซลล์ปกติน้อย แต่ถึงอย่างนั้นการพัฒนายาที่มีโบรอนมักใช้โมเลกุลซับซ้อนและมีราคาสูง ทำให้การเอาไปใช้รักษาจริง ๆ ยังเป็นเรื่องยาก เพราะต้นทุนแพงเกินไปและเข้าถึงได้ยากสำหรับผู้ป่วยส่วนใหญ่
โพลีไวนิลแอลกอฮอล์ (PVA) ช่วยให้รักษามะเร็งได้ดีขึ้นยังไง ?
ทีมวิจัยที่นำโดย ดร. ทาคาฮิโระ โนโมโต (Takahiro Nomoto) จากมหาวิทยาลัยโตเกียว ระบุว่าการผสม โพลีไวนิลแอลกอฮอล์ (PVA) ที่อยู่ในกาวน้ำ ลงในสูตรยาที่ใช้สาร D-BPA (D-4-boronophenylalanine) จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการสะสมโบรอนในเซลล์มะเร็งได้อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งสาร D-BPA เคยถูกตัดออกจากสูตรยาในการรักษาแบบ BNCT ไปแล้ว เพราะไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ แต่ผลการทดลองใหม่แสดงให้เห็นว่า เมื่อผสาน D-BPA เข้ากับ โพลีไวนิลแอลกอฮอล์ (PVA) ทำให้โบรอนสามารถอยู่ในเซลล์มะเร็งได้นานขึ้น ช่วยเพิ่มความเข้มข้นของโบรอน และทำให้การทำลายเซลล์มะเร็งด้วยรังสีนิวตรอนมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
ที่สำคัญคือ โพลีไวนิลแอลกอฮอล์ (PVA) เป็นสารเคมีที่มีราคาถูก หาง่าย และมีความเสถียรสูง ปกติถูกใช้ในอุตสาหกรรมทั่วไป เช่น กาวน้ำ หรือฟิล์มบรรจุภัณฑ์ ซึ่งการค้นพบใหม่นี้อาจนำไปสู่การลดต้นทุนการผลิตยาเพื่อรักษามะเร็งในเชิงปฏิบัติจริง ช่วยให้ผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพนี้ได้มากขึ้น
รักษามะเร็งง่ายขึ้น เข้าถึงได้มากขึ้น
แนวโน้มการวิจัยยาสำหรับรักษามะเร็งในปัจจุบัน มักมุ่งเน้นไปที่การสร้างโมเลกุลที่ซับซ้อนและมีราคาสูง อย่างไรก็ตาม ดร. โนโมโต เน้นย้ำว่าทีมของเขาพยายามพัฒนายาที่มีโครงสร้างเรียบง่าย แต่ยังคงไว้ซึ่งฟังก์ชันการทำงานสูงในราคาที่ประหยัด และการใช้ โพลีไวนิลแอลกอฮอล์ (PVA) ซึ่งเป็นสารพื้นฐานที่เข้าถึงได้ง่าย ชี้ให้เห็นถึงแนวทางใหม่ในการลดความซับซ้อนและต้นทุนของกระบวนการพัฒนายา เพื่อให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่สามารถได้รับประโยชน์จากการรักษาแบบ BNCT
สถานะงานวิจัยและแนวทางในอนาคต
แม้ตอนนี้ “งานวิจัยนี้ยังอยู่ในขั้นตอนทดลองในห้องปฏิบัติการ” แต่ผลลัพธ์ที่ได้มีความหวังว่าจะสามารถพัฒนาไปสู่การใช้งานทางคลินิกในอนาคต หากการทดลองเพิ่มเติมในสัตว์ทดลองและมนุษย์ให้ผลเป็นที่น่าพอใจ อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญสำหรับการรักษามะเร็งแบบ BNCT เพราะไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรักษาเท่านั้น แต่ยังสอดคล้องกับแนวคิดด้านความยั่งยืน และการเข้าถึงการรักษาที่มีประสิทธิภาพเท่าเทียมกันทั่วโลก