วันจันทร์ที่ 13 มกราคม Blue Origin มีภารกิจปล่อยจรวด New Glenn เป็นครั้งแรก ซึ่งถูกติดตั้งอยู่บนฐานปล่อยจรวดของบริษัทสูงถึง 30 ชั้น ที่สถานีกองทัพอากาศแหลมคะแนเวอรัล ในเวลา 01.00 น. ET (13:00 น.) แต่หลังจากได้บรรจุเชื้อเพลิงมีเทนและออกซิเจนเหลว จากนั้นในระหว่างการนับถอยหลังได้พบความผิดปกติบางอย่าง จึงจำเป็นต้องเลื่อนภารกิจออกไปก่อนอย่างน้อย 24 ชั่วโมงหรือนานกว่านั้น

จรวด New Glenn สูง 320 ฟุต เป็นจรวดแบบ 2 ขั้นตอน หรือ 2 ท่อน ซึ่งส่วนแรกหรือบูสเตอร์ขับดันด้วยเครื่องยนต์ BE-4 ของ Blue Origin จำนวน 7 เครื่อง ใช้เชื้อเพลิงมีเทนและออกซิเจนเหลว ที่สำคัญถูกออกแบบให้กลับมาลงจอดในแนวตั้งเพื่อนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ส่วนจรวดท่อนบนใช้แล้วทิ้งสามารถบรรทุกน้ำหนักได้ 45 เมตริกตัน ไปยังวงโคจรระดับต่ำของโลก และ 13 เมตริกตันไปยังวงโคจรการถ่ายโอน (GTO) เพื่อเดินทางไปยังอีกวงโคจรหนึ่ง

ภารกิจนี้ Blue Origin ได้กำหนดให้บูสเตอร์กลับมาลงจอดบนเรือ Jacklyn นอกชายฝั่งในมหาสมุทรแอตแลนติก ส่วนจรวดท่อนที่ 2 จะเดินทางต่อไปยังวงโคจร แต่น่าเสียดายช่วงท้ายของการนับถอยหลังของการปล่อยจรวด ได้มีการเลื่อนปล่อยจรวดออกไปหลายครั้งจนใกล้หมดเวลา บริษัทจึงต้องตัดสินใจยุติการปล่อยจรวดในครั้งนี้ เพื่อแก้ไขระบบส่วนย่อยของจรวดที่มีปัญหา

เจฟฟ์ เบโซส์ (Jeff Bezos) เจ้าของ Blue Origin อ้างว่าการปล่อยจรวดครั้งแรกของบริษัทขนส่งอวกาศเป็นเรื่องที่ยาก (ประมาณว่าเป็นเรื่องปกติที่ครั้งแรกจะมีความผิดพลาด) ซึ่งถ้าทำได้ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จครั้งยิ่งใหญ่ และย้ำว่าส่วนสำคัญของภารกิจนี้ก็คือการลงจอดของบูสเตอร์

นอกจากนี้ส่วนบรรทุกน้ำหนักของจรวด New Glenn ได้บรรทุกต้นแบบของยาน Blue Ring ที่เป็นยานลำแรกของ Blue Origin ซึ่งบริษัทมีแผนที่จะขายให้กับกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เพื่อใช้ทำภารกิจด้านความมั่นคงของชาติ และขายให้แก่ลูกค้าเอกชนเพื่อบริการขนส่งดาวเทียม

จรวด New Glenn สามารถบรรทุกน้ำหนักได้มากกว่าจรวด Falcon 9 ของ SpaceX ประมาณ 2 เท่า และมีความใกล้เคียงกับจรวด Falcon Heavy ซึ่งอนาคตจะเป็นคู่แข่งรายสำคัญของ SpaceX ในการรับสัญญาจ้างจากรัฐบาลสหรัฐฯ นอกจากนี้ยังเป็นคีย์หลักในการปล่อยดาวเทียม Project Kuiper ของ Amazon ตามแผนที่กำหนดไว้ ซึ่งได้ล่าช้าเพราะการพัฒนาเครื่องยนต์ BE-4 ของตัวเอง จนต้องจ้างจรวด Falcon 9 ของคู่แข่งมาแก้ขัดไปก่อนในปีนี้

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ามีโอกาสสูงที่การบินครั้งแรกของจรวด New Glenn จะสำเร็จ เพราะ Blue Origin มีประสบการณ์ปล่อยจรวด New Shepard มาแล้วหลายเที่ยวบิน (แม้สเกลจะต่างกันมาก) และก่อนหน้านี้เครื่องยนต์ BE-4 ของจรวด New Glenn ได้ถูกนำไปใช้ในจรวด Vulcan ของ ULA ซึ่งสามารถไปสู่วงโคจรได้สำเร็จถึง 2 ครั้งเมื่อปีที่แล้ว