การแข่งขันด้านอวกาศของเหล่ามหาเศรษฐีโลกได้เข้าสู่ยุคสมัยใหม่แล้ว เพราะเมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2568 เวลา 14:03 น. บลูออริจิน (Blue Origin) ของ เจฟฟ์ เบโซส์ (Jeff Bezos) สตาร์ตอัปคู่แข่งตัวฉกาจของ SpaceX (สเปซเอ็กซ์) ของ อีลอน มัสก์ (Elon Musk) ทำสำเร็จตามภารกิจหลัก NG-1 ในการนำจรวดยักษ์นิวเกล็นน์ (New Glenn) ที่มีความสูง 320 ฟุต พร้อม BE-4 เครื่องยนต์ไอพ่นทั้ง 7 ที่นำกลับมาใช้ซ้ำได้ จากศูนย์อวกาศแหลมคะแนเวอรัล รัฐฟลอริดา พุ่งทะยานออกนอกชั้นบรรยากาศโลกเป็นครั้งแรก เพื่อนำจรวดส่วนที่สองพร้อมสัมภาระ Blue Ring Pathfinder ดาวเทียมตรวจสอบที่ใช้ในงานด้านความมั่นคงของกระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ไปส่งยังวงโคจรนอกโลก

เดฟ ลิมป์ (Dave Limp) CEO ของบลูออริจิน กล่าวก่อนการปล่อยจรวดในครั้งนี้ว่า “ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม เราจะนำสิ่งเหล่านั้นมาเป็นบทเรียนในครั้งต่อไป” โดยเป้าหมายหลักของบลูออริจินสำหรับการปล่อยจรวดในวันนี้ คือต้องการให้นิวเกล็นน์เข้าสู่วงโคจรในอวกาศ

จรวดยักษ์นิวเกล็นน์ (New Glenn)

การปล่อยจรวดในครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากการพัฒนามายาวนานเกือบสิบปี โดยออกแบบมาเพื่อรับจ้างขนส่งสัมภาระไปยังอวกาศ และความสำเร็จของบลูออริจินในครั้งนี้ยังเป็นการส่งสัญญาณเตือนให้กับมัสก์ ว่าต้องระวังนิวเกล็นน์ให้ดี เพราะมีความสามารถในการบรรทุกสัมภาระใกล้เคียงกับฟัลคอน เฮฟวี (Falcon Heavy) ของสเปซเอ็กซ์แล้ว อีกทั้งดาวเทียมสตาร์ลิงก์ (Starlink) ของสเปซเอ็กซ์ ยังมีคู่แข่งดาวเทียมอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่าง Amazon นั่นก็คือดาวเทียม โปรเจกต์ คูเปอร์ (Project Kuiper) จำนวน 3,236 ดวง ที่คาดว่าจะถูกปล่อยขึ้นสู่วงโคจรระดับต่ำของโลกในเร็ว ๆ นี้ โดยจะใช้จรวดฟัลคอน 9 (Falcon 9) ของสเปซเอ็กซ์ขนส่งขึ้นไปตามกำหนดการ ก่อนที่ครั้งต่อไปนิวเกล็นน์จะเข้ามารับช่วงต่อการขนส่งที่มีน้ำหนักมากแทน

ลิมป์กล่าวว่า
“ผมภูมิใจอย่างยิ่งที่นิวเกล็นน์สามารถเข้าสู่วงโคจรได้ในการทดลองครั้งแรก”
“เรารู้ดีว่าการนำจรวดขึ้นไปและนำกลับมาลงจอดให้ได้ในครั้งแรก เป็นเป้าหมายที่ทะเยอทะยานมาก”
“แน่นอนว่าวันนี้เราได้เรียนรู้สิ่งต่าง ๆ มากมาย เราจะนำสิ่งเหล่านั้นมาปรับปรุง และพยายามกันอีกใหม่อีกครั้งในการปล่อยจรวดครั้งต่อไปช่วงฤดูใบไม้ผลินี้”

และขณะเดียวกัน การปล่อยจรวดส่วนแรกที่ถูกตั้งชื่อว่า “So You’re Telling Me There’s A Chance” ที่แปลได้ประมาณว่า “นี่นายจะบอกฉันว่ายังมีโอกาสอยู่สินะ” ตามแผนจะต้องลงจอดบนฐานกลางมหาสมุทรแอตแลนติก ที่อยู่ไกลออกไปหลายร้อยไมล์จากชายฝั่ง แต่ระหว่างที่ทำการลงจอดก็เกิดเหตุไม่คาดฝัน เพราะจรวดส่วนแรกที่กลับลงมาหลุดจากการควบคุมและหยุดส่งข้อมูลกลับมา ทำให้จรวดสูญหายระหว่างการลงจอด โดยทางบลูออริจินได้ยืนยันข้อมูลนี้แล้ว

Blue Origin กับภารกิจการปล่อยจรวดนิวเกล็นน์

นี่ถือว่าเป็นอีกหนึ่งความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ในการแข่งขันด้านธุรกิจอวกาศของเหล่ามหาเศรษฐี ทั้งนี้ต้องรอดูในอนาคตว่าวงการไหนจะเป็นสนามแข่งขันของพวกเขาอีก แต่ไม่ว่าใครจะเป็นผู้แพ้หรือผู้ชนะ คนที่ได้ประโยชน์ก็คือผู้บริโภคอย่างเรา