ดาวเคราะห์น้อย คือเศษหินที่ไม่มีอากาศหลงเหลืออยู่จากการก่อตัวของระบบสุริยะของเราเมื่อประมาณ 4,600 ล้านปีก่อน ซึ่งมีขนาดใหญ่สุดที่เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 530 กิโลเมตร ไปจนถึงวัตถุที่มีเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่า 10 เมตร หากมีดาวเคราะห์น้อยเข้ามาพุ่งชนกับโลกของเราก็จะเกิดแรงกระแทกที่สามารถทำลายล้างเมือง ชีวิตผู้คนและสัตว์มากมายได้ และเมื่อ 27 ธันวาคม 2024 ได้มีการตรวจพบดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 ที่มีขนาดความกว้าง 100 เมตร และมีความเสี่ยงต่อการเดินทางเข้ามาพุ่งชนโลก
ดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 ถูกตรวจพบโดยกล้องโทรทรรศน์อัตโนมัติ ATLAS ในเมืองริโอ อูร์ตาโด ประเทศชิลี และถูกหน่วยงานอวกาศของของสหรัฐฯ และยุโรปขึ้นทะเบียนรายชื่อให้เป็นดาวเคราะห์น้อยที่เสี่ยงต่อการพุ่งชนโลก จากการคำนวณมีโอกาสพุ่งชนโลก 1.3% ในวันที่ 22 ธันวาคม 2032 และไม่มีโอกาสพุ่งชนเกือบ 99% แม้ว่าจะมีโอกาสพุ่งชนน้อยแต่นักดาราศาสตร์เผยว่าควรติดตามวงโคจรอย่างต่อเนื่อง เพราะจะช่วยให้คาดการณ์การเคลื่อนที่ในอนาคตได้แม่นยำมากขึ้น
ดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 ถูกจัดอยู่อันดับ 3 ในมาตราความเสี่ยงต่อการชนของตูริน ซึ่งมาตรานี้มีอันดับ 0 – 10 จากความเสี่ยงน้อยไปจนถึงพุ่งชนอย่างแน่นอน และก่อนหน้านี้เมื่อปี 2004 ได้พบดาวเคราะห์น้อยอะโพฟิส (Apophis) มีความเสี่ยงที่อันดับ 4 ในมาตราตูริน แต่สุดท้ายก็ถูกปรับลดลงเพราะไม่มีความเสี่ยงอีกแล้ว
เมื่อประมาณ 66 ล้านปีก่อน โลกได้ถูกดาวเคราะห์น้อยมีความกว้าง 10 – 15 กิโลเมตรพุ่งชน จนเกิดแรงกระแทกเท่ากับระเบิดทีเอ็นที 72 ล้านล้านตัน สร้างรอยแผลขนาดใหญ่กว้างถึง 180 กิโลเมตรอยู่ที่บริเวณคาบสมุทรยูคาทานของเม็กซิโก ส่งผลให้ไดโนเสาร์สายพันธุ์ที่ไม่ใช่นกตายประมาณ 3 ใน 4 ซึ่งเรียกเหตุการณ์นี้ว่า การสูญพันธุ์ในยุคครีเทเชียส – พาลีโอจีน แต่ดาวเคราะห์น้อยขนาด 100 เมตร ความเสียหายย่อมน้อยกว่าอยู่เพียงแค่ในระดับเมืองเล็ก
อย่างไรก็ตาม การตรวจพบดาวเคราะห์น้อย 2024 YR4 ได้รับความสนใจจาก 2 หน่วยงานที่รับรองจากสหประชาชาติ นั่นก็คือ สำนักงานป้องกันดาวเคราะห์ของสำนักงานอวกาศยุโรป (ESA) ผู้ค้นพบ และก็มีเครือข่ายเตือนภัยดาวเคราะห์น้อยนานาชาติ (IAWN) ซึ่งมี NASA เป็นประธาน มีหน้าที่รับผิดชอบในการประสานงานกลุ่มองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้องกับการติดตามและจำแนกลักษณะของดาวเคราะห์น้อย เพื่อช่วยเหลือรัฐบาลทั่วโลกติดตามและวางแผนรับมือ โดยจะมีการเฝ้าติดตามและอาจใช้ยานอวกาศพุ่งชนเพื่อเปลี่ยนวงโคจรที่ NASA ได้ทดสอบในภารกิจ DART