เรียกได้ว่าตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน การปล่อยดาวเทียมถือเป็นอีก 1 ภารกิจที่ยิ่งใหญ่ของมวลมนุษยชาติที่จะทำให้โลกของเราเจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่องไม่หยุดยั้ง ซึ่งทาง arianespace ก็เป็นอีก 1 บริษัทรับจ้างปล่อยจรวดเพื่อนำเอายานดาวเทียมขึ้นไปยังชั้นบรรยากาศของโลกที่มีความน่าเชื่อถือสูงมาก ซึ่งเขาก็ได้เป็น 1 ในบริษัทที่ได้มาเปิดบูธในงาน CommunicAsia 2017 อีกด้วย เรามาทำความรู้จักกับบริษัทนี้กันดีกว่าว่ามีความน่าสนใจอย่างไรบ้าง มาดูกันเลย
arianespace หรือแอเรียนสเปซ เป็นบริษัทที่ให้บริการปล่อยดาวเทียมทุกประเภท เพื่อไปยังวงโคจรทุกรูปแบบรอบโลก เผยผลสำเร็จจากการปล่อยดาวเทียมกว่า 550 ดวงเข้าสู่วงโคจรด้วยจรวดทั้ง 3 ประเภท ไปยังวงโคจรทุกรูปแบบมาตั้งแต่ พ.ศ. 2523 ซึ่งปัจจุบันเขาได้มีฐานปล่อยจรวดอยู่ 2 ประเทศคือ เฟรนช์กายนา(อเมริกาใต้) และไบคอนอร์ ประเทศคาซัคสาน ผ่านจรวดทั้ง 3 รุ่นที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อรองรับการปล่อยยานดาวเทียมโดยเน้นการปล่อย 4 ประเภทดังนี้คือ
- Telecommunication หรือยานดาวเทียมสำหรับติดต่อสื่อสารโดยใช้คลื่นวิทยุในความถี่ไมโครเวฟในการรับ – ส่งข้อมูลมายังภาคพื้นดิน ส่วนใหญ่จะเป็นดาวเทียมที่หมุนรอบโลกในความเร็วเท่ากันหรือที่เรียกกันว่าดาวเทียมค้างฟ้า ทำให้เราสามารถปรับจานรับสัญญาณไปที่เดียวก็สามารถรับสัญญาณได้ทันที (พวกดูช่องเคเบิ้ลทีวีสมัยก่อนน่าจะเข้าใจ)
- Navigation ยานดาวเทียมสำหรับนำร่องการเดินทาง (GPS ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้ก็มาจากยานดาวเทียมประเภทนี้นั่นแล)
- Scientific Missions ยานดาวเทียมสำหรับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อให้การ
- Earth Observation ยานดาวเทียมสำรวจโลกเพื่อตรวจสอบทรัพยากรของโลกผ่านการถ่ายภาพออกมาแล้วส่งไปยังศูนย์ปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์ออกมาอีกทีหนึ่ง
สำหรับใครที่สนใจเรื่องดาวเทียมนอกเหนือจากนี้สามารถอ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่
จุดเด่นของทาง arianespace คือความน่าเชื่อถือสูงมาก แทบไม่เคยเกิดการระเบิดระหว่างการขนส่งยานดาวเทียมเลย ซึ่งทางแอเรียนสเปซนั้นก็ได้มีจรวดที่รองรับการปล่อยยานดาวเทียมอยู่ทั้งสิ้น 3 รุ่นด้วยกันคือ
ARIANE 5
แอเรียน 5 เป็นจรวดปล่อยยานดาวเทียมขนาดใหญ่ เพื่อปล่อยยานดาวเทียมในทุกประเภทตั้งแต่ Telecomunication, Navigation, Scientific Missions และ Earth Observation ซึ่งจรวดลำนี้มีความสามารถในการนำยานดาวเทียมขึ้นไปพร้อมกันถึง 2 ลำด้วยกัน และปัจจุบันมีสถิติในการนำยานอวกาศขึ้นไปโดยไม่ระเบิดมาแล้วถึง 78 ครั้งติดต่อกันตั้งแต่ปี 2002 เป็นต้นมาถึงปัจจุบันทำให้บริษัทที่เรียกใช้มั่นใจได้ว่ายานดาวเทียมที่สร้างขึ้นมาจะสามารถถูกนำไปยังจุดที่ต้องการได้อย่างปลอดภัย
SOYUZ
โซยูสเป็นจรวดขนาดกลางที่รองรับการปล่อยยานดาวเทียม 4 ประเภทเช่นเดียวกับแอเรียน 5 แต่สามารถพาขึ้นไปได้เพียงลำเดียวเท่านั้น ซึ่งจะสามารถรองรับยานดาวเทียมขนาดกลางลงมา มีสถิติการปล่อยยานดาวเทียมโดยไม่ระเบิดติดต่อกันถึง 42 ครั้งติด
VEGA
เวก้าเป็นจรวดปล่อยยานดาวเทียมขนาดเล็กที่จะเน้นการปล่อยยานดาวเทียมสำรวจโลกและยานดาวเทียมสำหรับใช้ในด้านวิทยาศาสตร์ ซึ่งจะไม่ถูกใช้บ่อยเท่าไรนัก มีสถิติในการปล่อยโดยไม่ระเบิดติดต่อกัน 9 ครั้งติด ซึ่งเรียกได้ว่าไม่เคยไม่ประสบความสำเร็จเลยตั้งแต่ปล่อยมา
ซึ่งในอนาคตอันใกล้ทาง arianespace ก็ได้วางแผนที่จะสร้างจรวดสำหรับปล่อยยานดาวเทียมเพิ่มขึ้นอีก 2 ลำด้วยกันเพื่อรองรับการใช้งานในอนาคตที่คาดว่าจะมีการนำเอาเทคโนโลยีใหม่ ๆ มากมายขึ้นไปสู่ท้องฟ้าอย่างแน่นอน โดยจะเพิ่มขึ้น 2 ลำด้วยกันคือ
ARIANE 6
จะเน้นไปในด้านความคล่องตัวที่มากกว่าเดิม โดยสามารถเปลี่ยน Module ของจรวดได้เป็น ARIANE 62 และ ARIANE 64 เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานและลดต้นทุนการผลิตนั่นเอง โดยจะแล้วเสร็จในช่วงปี 2020 ที่จะถึงนี้
VEGA-C
เป็นจรวดที่พัฒนาขึ้นมาจากรุ่น VEGA ปกติ เพิ่มประสิทธิภาพและความปลอดภัยให้ดียิ่งขึ้นกว่าเดิม จะแล้วเสร็จภายในปี 2019 นี้
ผลงานในอดีต
ตั้งแต่เอเรียนสเปซได้ปล่อยดาวเทียมดวงแรกให้แก่ลูกค้าจากเอเชียในปี พ.ศ. 2524 เอเรียนสเปซก็ได้ปล่อยดาวเทียมไปแล้วกว่า 78 ดวงแก่ลูกค้า 17 รายในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิค ซึ่งมีการตั้งสำนักงานระดับภูมิภาคทั้งสองแห่งโดยมีการดำเนินงานในสิงคโปร์ตั้งแต่ปี พ.ศ.2539 และโตเกียวตั้งแต่ พ.ศ.2529 ภูมิภาคนี้เป็นตลาดที่สำคัญของบริษัท โดยมีส่วนแบ่งตลาดอย่างมีนัยสำคัญถึงร้อยละ 60 ของการปล่อยดาวเทียมเชิงพาณิชย์ทั่วโลก นี่คิดเป็นประมาณร้อยละ 25 ของธุรกิจของเอเรียนสเปซทั่วโลก เอเรียนสเปซนั้นเป็นผู้ให้บริการปล่อยดาวเทียมที่เป็นตัวเลือกของผู้ประกอบการรายใหม่ในภูมิภาค ด้วยการปล่อยดาวเทียมดวงแรกให้กับลูกค้าในออสเตรเลีย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์และเวียดนาม ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา
ชินแซทเทลไลท์จากประเทศไทยนั้นเป็นลูกค้ารายแรกของเอเรียนสเปซจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ใน พ.ศ. 2534 ด้วยสัญญาว่าจ้างให้ปล่อยดาวเทียม ‘ไทยคม 1’ และในเวลาต่อมายังได้ปล่อยดาวเทียมไทยคมอีก 4 ดวง ซึ่งรวมถึง ‘ไทยคม 5’ ใน พ.ศ. 2549 ส่วนลูกค้าที่สำคัญรายอื่น ๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นได้แก่ พีที เทลคอม และบีอาร์ไอแซท จากอินโดนีเซีย มีแซทจากมาเลเซีย เอบีเอสฮ่องกง และวินาแซทจากเวียดนาม เครือข่าย บรอดแบนด์แห่งชาติ หรือ เอ็นบีเอ็น ของออสเตรเลีย และในเอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ เจซีแซทของญี่ปุ่น โคเรียแซทและสถาบันวิจัยอวกาศแห่งเกาหลี จากประเทศเกาหลี
ผลงานล่าสุดในฝั่ง SEA
ทาง arianespace นั้นตั้งแต่ต้นปี พ.ศ. 2560 ได้ประสบความสำเร็จในการปล่อยดาวเทียม ไม่ว่าจะเป็น ‘เทลคอม-3เอส’ ของเทลคอม อินโดนีเซีย ‘โคเรียแซท 7’ ของ เคที คอร์ป โดยจะมีการปล่อยดาวเทียมอีกสองดวงของอินเดียและญี่ปุ่นในปีนี้ โดยทั้งหมดจะใช้จรวด ARIANE 5 ซึ่งทั้งปี 2560 นี้จะมีการปล่อยดาวเทียมทั้งสิ้นถึง 12 ดวง
โซยุส – โอกาสในอนาคต
หลังจากการประกาศในวันที่ 20 เมษายน ว่ามีการลงนามในสัญญาปล่อยดาวเทียมฮอริซอน 3อี (ซึ่งดำเนินการโดยสกาย เพอร์เฟค เจแซท และอินเทลแซท ซึ่งเป็นการร่วมทุนกัน) โดยในปัจจุบันเอเรียนสเปซได้รับสัญญาว่าจ้างให้ปล่อยดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรอีก 51 ครั้ง (19 ครั้งโดยเอเรียน 25 ครั้งโดยโซยุส และ 7 ครั้งโดยเวกา) แก่ลูกค้า 28 รายทั่วโลก โดยคิดเป็นมูลค่ารวม 4.9 พันล้านยูโร (หรือประมาณ 1.9 แสนล้านบาท)
เมื่อมองไปข้างหน้า เอเรียนสเปซนั้นจะไม่เพียงแต่ให้บริการการปล่อยดาวเทียมที่มีคุณภาพและความน่าเชื่อถือสูงสำหรับดาวเทียมสื่อสารขนาดใหญ่ในวงโคจรประจำที่โดยใช้จรวด เอเรียน 5 แต่ยังมีความพร้อมสำหรับตลาดดาวเทียมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วเมื่อลูกค้านั้นมองหาการปล่อยดาวเทียมสำหรับเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงและดาวเทียมสังเกตการณ์ของโลกไปยังวงโคจรระดับต่ำและระดับกลางของโลกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ด้วยจรวดอวกาศในโครงการที่มีอยู่ในปัจจุบันและจรวจอวกาศแนะนำของ เอเรียน 6 และเวกา ซี ที่จะให้บริการภายในทศวรรษหน้านั้นทำให้เอเรียนสเปซสามารถตอบสนองความต้องการของตลาดได้อย่างเหมาะสมที่สุด