ก่อนหน้านี้มีผลวิจัยจากรัฐบาลพบว่า หนูตัวผู้มีโอกาสเกิดเนื้องอกที่หัวใจเมื่อได้รับรังสีจากโทรศัพท์ในปริมาณมาก จึงนำมาสู่ข้อสรุปเรื่องผลกระทบจากรังสีโทรศัพท์ต่อมนุษย์ แต่นักวิจัยอีกกลุ่มหนึ่งก็มีข้อโต้แย้งว่า หนูที่ถูกทดลองได้รับรังสีปริมาณมากกว่าที่มนุษย์ทั่วไปได้รับเสียอีก ซึ่งทำให้งานวิจัยนี้ไม่น่าจะอ้างอิงผลที่เกิดกับมนุษย์ได้
การวิจัยนั้นดำเนินการโดยปล่อยคลื่น 2G และ 3G ให้กับหนูทดลองเป็นระยะเวลา 9 ชั่วโมงต่อวัน เป็นระยะเวลาต่อเนื่องกันถึง 2 ปี (หนูอายุ 2 ปีเปรียบเหมือนคนอายุ 70 ปี) ซึ่งเป็นการรับรังสีที่มากกว่าการใช้สมาร์ทโฟนของเราในชีวิตประจำวันอย่างมาก
ซึ่งผลการวิจัยออกมาว่า หนูตัวผู้หากได้รับรังสีวิทยุที่ปริมาณมากๆ จะเกิดเนื้องอกที่หัวใจ ในขณะที่หนูตัวเมียกลับไม่เกิดผลแบบนั้น และยังไม่พบหลักฐานว่า คลื่นวิทยุส่งผลต่อการเกิดเนื้องอกในสมองอีกด้วย
ประเด็นเรื่องนี้เป็นที่ถกเถียงกันมาเป็นเวลานาน และทำให้ผู้ใช้สมาร์ทโฟนกังวลเกี่ยวกับรังสีโทรศัพท์ว่าอาจเป็นสาเหตุทำให้เกิดมะเร็งสมองได้ แต่รังสีที่ปล่อยออกมาเป็นจากสมาร์ทโฟนเป็นรังสีที่มีความถี่เหมือนรังสีวิทยุ ซึ่งพลังงานต่ำกว่ารังสีจากการ X-ray อย่างมาก โดยรังสี X-ray อาจทำให้เกิดอันตรายในระดับ DNA ได้ และนำไปสู่โรคมะเร็ง แต่รังสีวิทยุจากโทรศัพท์มือถือไม่ส่งผลเช่นนั้น เนื่องจากมีพลังงานต่ำกว่ามากครับ
ในปัจจุบันการผลิตสมาร์ทโฟนถูกควบคุมโดยคณะกรรมการกลางกำกับดูแลกิจการสื่อสาร (Federal Communication Commission) ซึ่งมีการกำหนดปริมาณรังสีวิทยุที่ปล่อยออกมาจากสมาร์ทโฟน และองค์การอาหารและยาแห่งสหรัฐอเมริกา (Food and Drug Administration) ยังได้ทำการวิจัยเพิ่มเติม และพบว่า ปริมาณรังสีวิทยุที่ FCC กำหนดเป็นปริมาณรังสีที่ปลอดภัยต่อมนุษย์
ถึงแม้จะยังไม่มีการวิจัยกับมนุษย์โดยตรง แต่จากการทดลองนี้ เราอาจมั่นใจในระดับหนึ่งได้ว่า คลื่นวิทยุจากสมาร์ทโฟนไม่ใช่เรื่องที่เราต้องเป็นกังวลมากนักครับ ถ้าหากเราไม่ได้ใช้หนักขนาดหนูทดลอง