มือถือเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็ง หัวข้อเรื่องนี้คงเป็นเรื่องที่ทำให้ใครหลายคนกังวลมาเป็นเวลาหลายปี แต่ว่าประเด็นนี้กำลังถูกยกขึ้นมาพูดถึงใหม่อีกครั้งหลังจากที่นักวิจัยของทางรัฐบาลได้ออกมาพูดถึงงานวิจัยที่แสดงหลักฐานว่า การได้รับคลื่นรังสีจากโทรศัพท์มากจะทำให้เกิดมะเร็งบางชนิดในหนู แต่ถึงอย่างนั้นก็ไม่ต้องกังวลไปสำหรับผลการวิจัยครั้งนี้ เพราะความเชื่อมโยงของมะเร็งนี้เกิดขึ้นเฉพาะกับหนูตัวผู้เท่านั้น และนักวิจัยก็ออกมาย้ำเลยว่าความเชื่อมโยงนี้ไม่สามารถใช้กับมนุษย์ได้
นักวิจัยกล่าวว่าความเสี่ยงที่เกิดขึ้นกับหนูที่ได้รับคลื่นรังสีจากโทรศัพท์ (หรือที่เราเรียกกันว่าคลื่นความถี่วิทยุ) ในปริมาณที่มาก และ ในระยะเวลาที่ยาวนานกว่าที่มนุษย์ได้รับ ไม่สามารถเอามาเปรียบเทียบกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับมนุษย์ได้โดยตรง ในงานวิจัยหนูได้รับคลื่นรังสีทั้งตัว แต่ในกรณีของมนุษย์นั้น เราจะได้รับรังสีเพียงแค่บางส่วนที่สัมผัสกับโทรศัพท์มือถือเท่านั้น ในการทดลองนี้นักวิจัยใช้คลื่นทั้งในระบบ 2G และ 3G แต่ปัญหาคืองานวิจัยนี้ไม่ได้ทำการวิจัยในระยะยาว และ การใช้งานเป็นประจำ ดังนั้นนักวิจัยจึงวางแผนที่จะทำงานวิจัยชิ้นใหม่เพื่อที่จะตอบปัญหานี้
งานวิจัยชิ้นใหม่ใช้เวลากว่า 10 ปีในการติดตามผล มันเป็นงานวิจัยที่ครอบคลุมการวิเคราะห์สุขภาพที่เกิดขึ้นกับสัตว์หลังจากได้รับคลื่นความถี่ 2G และ 3G มากที่สุด สัตว์เหล่านี้ถูกนำไปไว้ในห้องที่สามารถควบคุมปริมาณรังสีได้ หนูจะได้รับรังสี 10 ครั้ง จนครบ 9 ชม./วัน รังสีจะส่งผลตั้งแต่ในครรภ์หรือในช่วงแรกของชีวิต และ กินเวลานานถึง 2 ปี ซึ่งถือเป็นช่วงชีวิตส่วนใหญ่ของสัตว์ ระดับรังสีต่ำที่สุดในการทดลอง จะเท่ากับระดับที่สูงที่สุดที่ได้รับการยอมรับในสหราชอาณาจักร แต่นักวิจัยได้บอกว่าโดยทั่วไปแล้ว คนส่วนน้อยมากที่จะได้รับรังสีในระดับนี้ และระดับรังสีที่สูงที่สุดในการทดลองนี้ สูงถึง 4 เท่าของของรังสีสูงสุดที่มนุษย์จะได้รับ
จากการทดลองนักวิจัยได้หลักฐานที่แน่ชัดว่ารังสีจะทำให้หนูเพศผู้มีอาการ malignant schwannomas และยังพบหลักฐานที่ทำให้เกิดเนื้องอกในสมองแต่ในเปอร์เซ็นที่ต่ำมาก แต่ในทางกลับกันหนูที่ได้รับรังสีกลับมีอายุที่ยาวกว่าหนูปกติ นักวิจัยกล่าวว่าหนูเพศผู้ที่สัมผัสรังสีมีโอกาสน้อยที่จะเกิดปัญหาไตเรื้อรังซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการเสียชีวิตของหนูที่มีอายุมาก
ถึงอย่างไรก็ตาม การทดลองนี้ไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อทดสอบความปลอดภัยในการใช้โทรศัพท์ของมนุษย์ เพราะฉะนั้นเราจึงไม่สามารถสรุปความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับมนุษย์ได้ การทดลองนี้ไม่ได้หาปริมาณที่จะทำให้เกิดมะเร็ง การทดลองนี้เพียงแค่หาความสัมพันธ์ระหว่างปริมานรังสีที่สัตว์ได้รับ กับอัตราการเกิดเนื้องอกเท่านั้น แต่เราเชื่อว่าข้อจำกัดด้านความปลอดภัยที่มีอยู่สำหรับโทรศัพท์มือถือ ยังคงเป็นที่ยอมรับได้ในการปกป้องสุขภาพของประชาชนทั่วไป ดร.Jeffrey Shuren ผู้อำนวยการศูนย์อุปกรณ์และสุขภาพรังสีวิทยากล่าว
นักวิจัยของ NTP กำลังวางแผนศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของเทคโนโลยีใหม่ ๆ และในการทดลองเหล่านี้จะใช้วิธีการที่แตกต่างกันออกไปเพื่อให้ได้ผลการทดลองภายในไม่กี่สัปดาห์หรือหลายเดือนแทนที่จะเป็นปี นอกจากนี้การศึกษาจะพยายามระบุตัวบ่งชี้ทางชีวภาพที่อาจบ่งบอกถึงผลกระทบจากการได้รับรังสีคลื่นความถี่วิทยุในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเช่นการเปลี่ยนแปลงของอัตราการเต้นของหัวใจหรือการเปลี่ยนแปลงของโมเลกุลที่อาจเป็นมะเร็งได้ หากนักวิทยาศาสตร์สามารถทำความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางชีวภาพในสัตว์ได้มากขึ้น พวกเขาก็จะเข้าใจสิ่งที่จะเกิดกับมนุษย์มากขึ้นเช่นกัน