หลายคนคงรู้อยู่แล้วว่า พฤติกรรมการรับประทานอาหารที่ไม่ดีและโรคอ้วน สามารถทำให้คุณเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ เบาหวานชนิดนี้เกิดจากการที่ร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้มากพอ จึงไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในกระแสเลือดได้ ดังนั้นอินซูลินจึงเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการควบคุมปริมาณน้ำตาลของพวกเขา

แต่ปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์บอกกับเราว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า อินซูลินที่ใช้รักษาอาการของผู้ที่เป็นเบาหวานประเภทที่ 2 อาจมีไม่เพียงพอสำหรับผู้ป่วยทั่วโลก กว่า 400 ล้านคนที่มีอายุระหว่าง 20-79 ปี กำลังเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 และคาดว่าจำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มขึ้นเป็น 500 ล้านคนในปี 2030 นั่นหมายความว่าจะมีผู้ป่วยอีกกว่า 80 ล้านคนที่ต้องการอินซูลินเพิ่ม และมีความเป็นไปได้ว่ายานี้จะเข้าไม่ถึงผู้ป่วยในเอเชียและแอฟริกา

การเข้าถึงยาในความหมายนี้ หมายถึงความพร้อมในการใช้ยาและความพร้อมในจำนวนยาที่จะจ่ายให้ผู้ป่วย ดร. Sanjay Basu จากมหาวิทยาลัย Stanford ในอเมริกา ผู้ทำการวิจัยกล่าวว่า การจัดการเข้าถึงของยาจำเป็นต้องทำอย่างปลอดภัย รวมทั้งอุปกรณ์ที่ใช้ต่าง ๆ ก็ต้องปราศจากเชื้อโรคเช่นกัน แต่อีกหนึ่งประเด็นหลัก คือราคาของยา

อินซูลินเป็นยาที่มีการใช้งานมาเป็นเวลากว่า 97 ปี และไม่มีแนวโน้มว่าราคาของมันจะลงเลย หนึ่งในเหตุผลนั้นเป็นเรื่องของการตลาดที่บริษัทผลิตยา 3 บริษัท กุมการผลิตไว้ถึง 99% ทั่วโลก และถึงแม้ว่า 90 ประเทศจะมีมาตราการปลอดภาษีสำหรับอินซูลิน ตัวยาก็ยังคงแพงอยู่ดีสำหรับหลาย ๆ คน แม้แต่ในสหรัฐเองก็ต้องยอมจ่ายค่าภาษีสำหรับอินซูลิน เพิ่มขึ้น 89% ตั้งแต่ปี 2000-2010 แม้กระทั่งผู้ที่มีสิทธิประกันราคายาก็เพิ่มขึ้นจาก 40$ เป็น 130$ /ขวด และขวดหนึ่งส่วนมากใช้ได้เพียงสองสัปดาห์เท่านั้น การควบคุมตลาดของอินซูลินทั่วโลกจึงทำได้ยากมาก ปัจจัยนี้จึงทำให้หลายคนต้องเปลี่ยนชนิดของอินซูลิน และถอนยาบางตัวออกไปจากส่วนผสม

อินซูลินมีหลายประเภทและแพทย์ผู้จ่ายยาจะเลือกชนิดที่เหมาะสมกับผู้ป่วยมากที่สุด ด้วยราคายาที่แพงทำให้ประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลางอาจมีการหยุดชะงักการนำเข้ายา และมีอีกหลายประเทศที่ไม่มีความรู้พอที่จะสามารถใช้อินซูลินได้ และบางประเทศก็มีการบริหารจัดการยาที่ไม่ดี อย่างในประเทศ Mozambique มียา 77% ที่ยังคงอยู่ในเมืองหลวง ทำให้ยาไม่สามารถเข้าถึงผู้ป่วยได้ ดังนั้นจึงเกิดเป็นคำถามตามมาว่า ยาที่มีอายุการใช้งานมาเป็นเวลานาน เมื่อสิทธิบัตรหมดอายุแล้วทำไมถึงยังคงมีราคาแพงอยู่ดี?

อีกหนึ่งเหตุผลที่นักวิทยาศาสตร์ให้ ก็คือการที่จะคัดลอกอินซูลินนั้นทำได้ยาก เพราะมันมีโครงสร้างที่ซับซ้อน บริษัททั่วไปจึงมองว่ามันไม่คุ้มค่าที่จะลงทุน นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าอินซูลินควรจะรวมอยู่ในแพคเกจการคุ้มครองสุขภาพแบบสากล และกองทุนโรคเบาหวานควรจัดสรรเงินส่วนหนึ่งให้กับการจัดสรรและดูแลยา

ปัญหานี้ชี้ให้เห็นได้ชัดถึงการจัดการทางระบบสุขภาพที่ไม่ดีในการดูแลรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวาน และราคายาที่แพงทำให้เข้าถึงยาได้ยากมากขึ้น ต้องมีการจัดการกับปัญหาเหล่านี้ก่อนที่มันจะส่งผลต่อชีวิตของผู้ป่วยโรคเบาหวานไปมากกว่านี้

อ้างอิง