ทุก ๆ ปีในประเทศอังกฤษและเวลส์ จะมีเด็กผู้ชายเกิดมามากกว่าเด็กผู้หญิงเสมอ ตั้งแต่ปี 1838 ได้มีการบันทึกไว้ว่า เด็กที่เกิดมาส่วนมากเป็นเด็กผู้ชาย และในปี 2017 ผู้ชายในอังกฤษและเวลส์ มีจำนวน 348,071 คน ในขณะที่มีผู้หญิง 331,035 คนเท่านั้น (ซึ่งจำนวนประชากรต่างกันกว่า 17,000 คนเลยทีเดียว) ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ?

ในความเป็นจริงอัตราส่วนการเกิดของผู้ชาย : ผู้หญิง คิดเป็น 105 : 100 มันเป็นอัตราส่วนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ตั้งแต่ในศตวรรษที่ 17 แล้ว ถึงแม้ว่าจะมีช่องว่างในบางประเทศ เช่น อินเดีย หรือ จีน เพราะเด็กผู้ชายเป็นที่ต้องการมากกว่าในประเทศเหล่านั้น

คำถามคือ แล้วอะไรที่ทำให้เด็กผู้ชายมีโอกาสเกิดมากกว่าเด็กผู้หญิงละ?

ถึงจะยังไม่มีข้อสรุปที่แน่ชัดแต่เรามีหลายทฤษฎีที่สามารถอธิบายเรื่องนี้ได้ ทฤษฎีแรกเป็นเรื่องของวิวัฒนาการ เพราะผู้ชายเป็นเพศที่เสี่ยงอันตรายมากกว่าเพศหญิง ทั้งการใช้ชีวิต รวมทั้งปัญหาสุขภาพต่าง ๆ ในทุกช่วงอายุ ทุก ๆ ที่ผู้ชายมีโอกาสเสียชีวิตมากกว่าผู้หญิง ธรรมชาติจึงสร้างให้ผู้ชายมีจำนวนมากกว่า ศาสตราจารย์ David Steinsaltz รองศาสตราจารย์ด้านสถิติแห่งมหาวิทยาลัย Oxford กล่าว

 

กราฟแสดงถึงจำนวนเด็กชายเปรียบเทียบกับเด็กหญิงในช่วงปีที่ผ่านมา

นอกจากนี้ยังมีแนวคิดเรื่องความแตกต่างของสเปิร์ม ที่เป็นตัวกำหนดเพศทารก สเปิร์มเพศชาย (XY) จะว่ายน้ำเร็วกว่าแต่จะไม่ทนเท่ากับสเปิร์มเพศหญิง (XX) แนวคิดนี้มีปัจจัยร่วมหลายอย่าง เช่น อายุของพ่อและแม่ การตกไข่ ความเครียด สารอาหาร รวมถึง sexual position อีกด้วย

ดังนั้นอีกหนึ่งทฤษฎีที่ได้รับความนิยมมากคือ การมีเพศสัมพันธ์ในช่วงใกล้ตกไข่ มีงานวิจัยบางชิ้นบอกกับเราอีกว่า สเปิร์ม XX ชอบหลงทางในระหว่างที่จะว่ายน้ำไปเจอไข่ ทำให้พวกสเปิร์ม XY ที่สามารถว่ายน้ำได้เร็วอยู่แล้ว มีโอกาสแซงไปเจอไข่ได้มากกว่านั่นเอง ถึงแม้พ่อแม่ที่มีลูกชายหลายคู่จะยืนยันวิธีนี้ แต่นักวิทยาศาสตร์กลับพบหลักฐานที่สนับสนุนแนวคิดนี้น้อยมาก ที่สำคัญยังมีงานวิจัยบางชิ้นชี้ให้เราเห็นว่าความเครียดก็เป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดเพศ และทารกเพศชายมีโอกาสแท้งมากกว่าทารกเพศหญิงอีกด้วย

ถึงแม้ว่านักวิทยาศาสตร์จะยังไม่สรุปแน่ชัดถึงสาเหตุที่ผู้ชายมีจำนวนมากกว่าผู้หญิง แต่สิ่งหนึ่งที่เรารู้แน่ ๆ คือ ในปัจจุบันนี้ผู้ชายมีจำนวนมากกว่าผู้หญิงอย่างไม่ต้องสงสัย

อ้างอิง