ระบบ VR หรือ Virtual Reality ที่หลายคนรู้จักกันดีจากการเล่นเกม และการใช้เทคโนโลยีต่างๆ กำลังถูกนำมาประยุกต์ใช้ในการศึกษามะเร็งทางการแพทย์แล้ว

‘virtual tumour’ หนึ่งในงานประกวดจากโครงการ CRUK’s Grand Challenge Awards กำลังสร้างหนทางใหม่ให้กับการแพทย์ เมื่อนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Cambridge ได้ใช้เครื่องแบบจำลองเสมือนสามมิติ (virtual reality) ในการจำลองโครงสร้างของเนื้องอก เพื่อหาหนทางใหม่ๆในการรักษามะเร็ง

นักวิทยาศาสตร์ได้นำชิ้นเนื้อขนาด 1 มิลลิเมตร จากการผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านม มาทำการหั่นเป็นชิ้นบางๆ สแกน และทำเครื่องหมายต่างๆ เพื่อแสดงถึงลักษณะโครงสร้างโมเลกุล DNA ของเซลล์มะเร็งโดยใช้เครื่อง virtual reality ทำให้การศึกษาโครงสร้างของมะเร็งในห้องทดลองเป็นไปได้ง่ายยิ่งขึ้น นอกจากนี้การใช้ virtual reality ยังอำนวยความสะดวกให้ผู้คนจำนวนมากทั่วโลก สามารถใช้งานได้อีกด้วย

กลุ่มเซลล์เนื้องอกในวงสีแดง ที่กระจายตัวออกมาจากเซลล์เนื้องอกกลุ่มใหญ่ในท่อน้ำนม

ศาสตราจารย์ Greg Hannon ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยโรคมะเร็งจากประเทศอังกฤษ บอกกับสำนักข่าว BBC ว่า เราไม่เคยมีการศึกษาโครงสร้าง และรายละเอียดของเนื้องอกที่ลึกระดับนี้มาก่อน เราแทนที่โครงสร้างต่างๆด้วยฟองสบู่หลากสี เพื่อง่ายต่อการจำแนกเซลล์ ถึงแม้ว่าชิ้นเนื้อต้นแบบจะมีขนาดเพียงแค่เข็มหมุด แต่ภายใต้ระบบนี้เราสามารถขยายขนาดของมันได้หลายร้อยเมตรเลยทีเดียว ระบบ VR สามารถทำให้เราเห็นโครงสร้างเซลล์ได้อย่างอิสระ เราสามารถเห็นเซลล์เนื้องอกที่กระจายตัวออกมาจากท่อน้ำนมได้ นี่อาจแสดงให้เราเห็นว่าเซลล์มะเร็งแพร่กระจายรอบๆเนื้อเยื่อได้อย่างไร โดยใช้ระบบ VR

ทางด้านศาสตราจารย์ Karen Vousden หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของ CRUK ได้บอกกับทาง BBC เช่นกันว่า การใช้ระบบภาพสามมิติในการศึกษาเซลล์มะเร็งจะช่วยให้เราพัฒนาการรักษาใหม่ๆได้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้เธอยังสามารถตรวจสอบการทำงานของยีนที่ช่วยป้องกันการเกิดมะเร็งในร่างกายของมนุษย์ได้อีกด้วย

อ้างอิง