หุ่นยนต์จีนได้ทำการสร้างประวัติศาสตร์เป็นครั้งที่สองหลังจากที่ส่งรูปพื้นผิวด้านมืดของดวงจันทร์ ที่มนุษย์ไม่เคยได้เห็นมาก่อนกลับมายังโลก แสดงให้เห็นถึงภูมิทัศน์ที่เต็มไปด้วยหินปล่องภูเขาไฟ และมีแสงสว่างที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน
สืบเนื่องจากโครงการสำรวจด้านมืดของดวงจันทร์ด้วยยานฉางเอ๋อ 4 ทีมสำรวจจากจีน (หุ่นยนต์ lander และ rover) ได้ลงจอดบนดวงจันทร์เมื่อวันพฤหัสบดีที่ผ่านมา เวลา 22.26 น. ตามเวลาท้องถิ่นของปักกิ่ง เพื่อสำรวจอีกด้านของดวงจันทร์
หลายคนสงสัยว่า ดวงจันทร์ก็หมุนรอบตัวเองไปพร้อม ๆ กับโคจรรอบโลก แล้วทำไมเราถึงเห็นดวงจันทร์เพียงแค่ด้านเดียวละ? คำตอบคือ เพราะดวงจันทร์มีอัตราการหมุนรอบตัวเอง เร็วพอ ๆ กับคาบเวลาการโคจรรอบโลก (ประมาณ 27.32 วัน) จึงทำให้ดวงจันทร์หันด้าน ๆ หนึ่งเข้าหาโลกอยู่ตลอดเวลา (แต่จากกาลเวลาที่ผ่านไปหลายล้านปี ผลของแรงโน้มถ่วงจากโลกที่ส่งผลให้ดวงจันทร์หมุนรอบตัวเองช้าลง จนกระทั่งในปัจจุบันอัตราการหมุนรอบตัวเองและการโคจรรอบโลกของดวงจันทร์มีค่าเท่ากัน) ด้วยเหตุนี้การสำรวจดวงจันทร์อีกด้านจึงเป็นไปได้ยากเนื่องจากการส่งสัญญาณวิทยุ แต่จีนก็สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ทำให้การติดต่อส่งข้อมูล หรือแม้แต่รูปภาพเป็นไปอย่างง่ายดาย
ในรูปที่ถูกส่งกลับมามีแสงสว่างมากพอที่จะมองเห็นพื้นผิวดวงจันทร์ได้ชัดเจน โดยศาสตราจารย์ Frederick Walter ศาสตราจารย์วิชาฟิสิกส์และดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Stony Brook อธิบายว่า แท้จริงแล้วดวงจันทร์ก็เหมือนโลกของเรา มันหมุนรอบตัวเอง ทำให้มันได้รับแสงอาทิตย์เช่นเดียวกับโลก มีกลางวันกลางคืนเหมือนกัน เพียงแต่ว่าใช้เวลานานกว่าโลกถึง 29 วัน ดังนั้นยานฉางเอ๋อ 4 จะลงจอดเวลา 9 โมงเช้าตามเวลาท้องถิ่นบนดวงจันทร์ ภาพที่ถ่ายได้จากกล้อง Yutu-2 ทำให้เรารู้ว่าเราสามารถใช้อุปกรณ์ที่อาศัยพลังงานแสงอาทิตย์ในการสำรวจดวงจันทร์ได้
ในขณะเดียวกันนักดาราศาสตร์ ต่างเฝ้ารอข่าวจากการปฏิบัติภารกิจนี้อย่างใจจดใจจ่อ เพราะก่อนหน้านี้ยานอวกาศจากโซเวียต (Luna 3) และยานจากนาซ่า (Lunar Reconnaissance Orbiter) ทำได้เพียงเก็บภาพระยะไกลของด้านมืดของดวงจันทร์เพียงเท่านั้น และในขณะที่เรารอให้ทีมสำรวจเก็บข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ เราก็สามารถเพลิดเพลินไปกับรูปที่ถูกส่งกลับมาจากด้านมืดของดวงจันทร์ซึ่งตอนนี้สว่างไสวขึ้นมาแล้ว