งานวิจัย และผู้เชี่ยวชาญต่างๆมีความเชื่อว่าการที่เด็กใช้เวลาส่วนมากไปกับหน้าจอ จะทำให้พัฒนาการต่างๆของเด็กช้าลง เนื่องจากเมื่อสมองจดจ่ออยู่กับหน้าจอ จะทำให้สมองพลาดการฝึกทักษะต่างๆที่สำคัญไป ดังนั้นในทางทฤษฎีจึงไม่ควรให้เด็กใช้เวลากับหน้าจอให้มากนัก
จากการสำรวจคุณแม่ที่มีลูกอายุ 2,3 และ 5 ปี ถึงเรื่องระยะเวลาที่ใช้ไปกับหน้าจอ (ในที่นี้คือโทรทัศน์ โทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ เกม การ์ตูน ภาพยนตร์ ไอแพด จะว่าง่ายๆคือ อุปกรณ์ใดๆก็ตามที่มีหน้าจอ) และ ทักษะพัฒนาการของเด็กพบว่า เฉลี่ยแล้วเด็กอายุ 2 ปี ใช้เวลา 17 ชม./สัปดาห์ ไปกับหน้าจอ เด็ก 3 ปี ใช้เวลา 25 ชม./สัปดาห์ ไปกับหน้าจอ และเด็กอายุ 5 ปี ใช้เวลา 17 ชม./สัปดาห์ไปกับหน้าจอ (ช่วงนี้เด็กเริ่มเข้าเรียนแล้ว) เด็กเริ่มมีพัฒนาการที่ล่าช้าหลังจากที่มีการใช้เวลาอยู่กับหน้าจอมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
แล้วแค่ไหนถึงจะเรียกว่าพอดีละ?
คำถามนี้เป็นคำถามที่ตอบได้ยาก เพราะในขณะที่ประเทศอังกฤษไม่มีข้อกำหนดในเรื่องนี้ (เพราะทางอังกฤษบอกว่าหลักฐานไม่เพียงพอ) แต่ทางด้านสมาคมกุมารเวชศาสตร์แคนาดาบอกว่า สำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปีไม่ควรใช้เวลาไปกับหน้าจอเลย ส่วนสมาคมกุมารเวชศาสตร์จากอเมริกา ( American Association of Paediatrics หรือ AAP ) ระบุว่า
– สำหรับเด็กอายุไม่เกิน 18 เดือน ควรหลีกเลี่ยงการใช้เวลากับหน้าจอ
– สำหรับผู้ปกครองที่เด็กอายุระหว่าง 18-24 เดือน ที่อยากให้ลูกดูสื่อต่างๆ ควรเลือกโปรแกรมสำหรับเด็ก พร้อมนั่งดูไปกับเด็กด้วย
– สำหรับเด็กอายุ 2-5 ปี ควรจำกัดการใช้เวลากับหน้าจอไว้ที่ 1 ชม./วัน และเช่นกันควรเลือกโปรแกรมสำหรับเด็ก และ นั่งดูไปพร้อมกับเด็กด้วย
– สำหรับเด็กอายุ 6 ปี และมากกว่านั้น ช่วงเวลาการอยู่กับหน้าจอขึ้นอยู่กับผู้ปกครอง แต่คุณควรทำให้แน่ใจว่ามันไม่ไปรบกวนการออกกำลังกาย และการนอนของเด็ก
ถึงแม้ว่าหลักฐานที่นักวิทยาศาสตร์ค้นพบ อาจจะยังมีไม่มากเพียงพอให้ตัดสินว่าพัฒนาการที่ล่าช้าของเด็กมาจากการใช้เวลากับหน้าจอก็ตาม แต่ดร. Bernadka Dubicka กล่าวว่า เรายังต้องการการวิจัยเพิ่มเติมเพื่อบอกเราว่า เด็กแบบไหนที่มีความเสี่ยงต่ออันตรายจากการใช้เวลาไปกับหน้าจอมากที่สุด และบางทีมันอาจส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของเด็กด้วยเช่นกัน