ในปัจจุบันนี้ด้วยความสะดวก และใช้งานง่ายของเครื่องพิมพ์ 3 มิติ มันจึงถูกใช้งานอย่างกว้างขวางไม่ว่าจะเป็น การสร้างเซ็นเซอร์สำหรับรถโรเวอร์ของ NASA เครื่องยนต์จรวด หมวกกันน็อก หรือแม้กระทั่งฟันปลอม แต่มันก็ยังมีข้อจำกัด เพราะเครื่องพิมพ์ 3 มิติจะสามารถสร้างวัตถุที่ทำจากวัสดุแบบเดียวกันทั้งชิ้นได้เท่านั้น แต่นั่นเป็นเรื่องก่อนหน้านี้ เพราะตอนนี้นักวิทยาศาสตร์ข้ามขีดจำกัดนี้ไปแล้ว
ก่อนหน้านี้การจะสร้างวัตถุขึ้นมาจากเครื่องพิมพ์จะต้องมีการใช้วัสดุตั้งต้นที่แตกต่างกัน เพื่อให้ได้เนื้อวัสดุที่แตกต่างกันออกไป นั่นทำให้การทำงานในแต่ละครั้งต้องมีการใช้ถังสารตั้งต้นเป็นจำนวนมาก แต่นักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Wisconsin ได้ค้นพบวิธีการใช้คลื่นแสงเข้าช่วยให้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ พิมพ์วัสดุได้มากกว่า 1 อย่างภายในผลงานชิ้นเดียว และไม่ต้องเปลี่ยนถังสารตั้งต้น พวกเค้าใช้วิธีการทางเคมีทำให้ Monomers (โมเลกุลที่รวมตัวกันเพื่อสร้างวัสดุพิมพ์แบบสามมิติ) ที่ถูกเชื่อมติดกันมีคุณสมบัติแตกต่างกันออกไปตามความยาวคลื่นแสงที่ใช้ (แสง UV, Visible Light)
แต่วิธีการดังกล่าวก็ยังควรได้รับการทดลองอย่างต่อเนื่อง ในขั้นแรกนี้นักวิทยาศาสตร์ประสบความสำเร็จในการสร้างวัสดุแข็งติดกับวัสดุอ่อนนุ่มเท่านั้น พวกเขายังคงต้องศึกษาหาวัสดุที่เหมาะสมที่สุดในการนำมาเป็นสารตั้งต้นในการขึ้นพิมพ์ ด้วยความหวังที่ว่าเครื่องพิมพ์ 3 มิติจะสามารถสร้างวัตถุที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น