เชื่อว่าสำหรับหลายๆ คนแล้วการได้กินของหวานในวันที่เครียดจากการเรียน การได้กินชาบู ปิ้งย่างหลังจากวันที่น่าเบื่อในที่ทำงาน หรือแม้แต่การนั่งกินขนมขบเคี้ยวไปเรื่อยๆ คงจะเป็นหนึ่งในความสุขเล็กๆ ในแต่ละวันที่จะทำให้คุณยิ้มสู้กับชีวิตน่าเบื่อไปได้

แต่! สายกินแก้เครียดต้องฟัง เพราะมีงานวิจัยออกมาบอกว่า การกินอาหารในขณะที่เครียด (โดยเฉพาะอาหารที่มีแคลอรี่สูง) จะมีโอกาสอ้วน ได้มากกว่าการกินตอนไม่เครียด งานวิจัยนี้ถูกทดลองในหนู และนักวิจัยังพบอีกว่า ภาวะเครียดสะสมนี่ละที่เป็นแรงผลักดันให้เรากินต่อไปแบบหยุดไม่ได้

นักวิจัยได้ทำการทดลองในหนูและพบว่าหนูเครียดที่ถูกเลี้ยงด้วยอาหารที่มีแคลอรี่สูง มีน้ำหนักตัวเพิ่มมากกว่าหนูไม่เครียดที่ถูกเลี้ยงด้วยอาหารแคลอรี่สูงหลายเท่า กุญแจสำคัญในความอ้วนของหนูที่เครียดทั้งหลายนั้นอยู่ที่ Hypothalamus ส่วนที่ควบคุมการอยากอาหาร และ ความหิว ได้รับผลกระทบมาจาก Amygdala ส่วนที่ควบคุมการตอบสนองต่ออารมณ์ เช่น ความเครียด ความวิตกกังวล ทำให้สมองทั้งสองส่วนสร้างโมเลกุลที่เรียกว่า Neuropeptide Y (NPY) ขึ้นมาตอบสนองต่อความเครียด ทำให้เราอยากอาหารมากยิ่งขึ้น

เมื่อนักวิทยาศาสตร์ทดลองกั้นการผลิต NPY ในหนูที่เครียด และให้อาหารที่มีแคลอรี่สูงเช่นเดิม พวกเขาพบว่าน้ำหนักตัวของหนูที่เครียด และ ไม่เครียดที่ถูกเลี้ยงด้วยอาหารแคลอรี่สูงไม่ต่างกันเลย และยิ่งไปกว่านั้นมันยังส่งผลให้ Insulin ทำงานมากขึ้น 10 เท่า ระดับ Insulin ยังจะส่งผลต่อ Amygdala ทำให้ผลิต NPY มากขึ้น ความอยากอาหารก็มากขึ้น ในขณะที่การเผาผลาณแคลิรี่ยังคงเท่าเดิม

Herbert Herzog หัวหน้าแผนกห้องปฏิบัติการ สถาบันวิจัยการแพทย์ Garvan กล่าวว่า มันไม่ชัดเจนว่าทำไมสมองถึงมีกลไกเช่นนี้ แต่การขาดอาหารและการอดอาหารเป็นเรื่องเครียด ดังนั้นการกินอาหารในปริมาณที่สูงขึ้นภายใต้เงื่อนไขเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่ร่างกายทำเพื่อเอาชีวิตรอด

นักวิทยาศาสตร์คาดว่าการศึกษานี้ไม่เพียงแต่จะให้ผลลัพธ์ที่น่าพอใจในเรื่องของการลดความอ้วนแล้ว มันยังสามารถทำให้เราเข้าใจกลไกความอ้วน และอาจช่วยลดภาวะโรคอ้วนที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้เช่นกัน

อ้างอิง