หลายคนเคยมีความคิดที่ว่าหากเราเกิดมาในฐานะที่ยากจน แต่เรามีความฉลาด เราก็จะมีโอกาสประสบความสำเร็จได้พอๆ กับเด็กที่บ้านรวย แต่วันนี้งานวิจัยจากอเมริกาชี้ให้เราเห็นแล้วว่าความเป็นจริงเด็กที่บ้านรวยต่างหากที่มีโอกาสประสบความสำเร็จมากกว่าคนอื่นๆ

เปรียบเปรยด้วยคำกล่าวที่ว่า “Born to Win, Schooled to Lose” ความรวยจึงเป็นเครื่องบ่งชี้ความสำเร็จในอนาคตของเด็กมากกว่าการศึกษาในอเมริกา

งานวิจัยจาก Georgetown Center on Education and the Workforce (CEW) ที่จัดทำโดย Anthony P. Carnevale ผู้อำนวยการ CEW ได้ทำการเก็บข้อมูล และ ติดตามผลการทดลองผ่านทาง National Center for Education Statistics (NCES) ขั้นแรกพวกเขาจะวัดความสามารถของเด็กโดยการใช้การสอบเลขเป็นตัวบ่งชี้ หลังจากนั้นพวกเขาจะจัดแบ่งเด็กออกเป็นกลุ่ม โดยการประเมินสถานะทางสังคม รายได้ของที่บ้าน ระดับการศึกษาของผู้ปกครอง และ อาชีพของผู้ปกครอง สิ่งที่พวกเขาพบคือ เด็กที่มีพรสวรรค์ และมาจากครอบครัวที่ยากจนมักไม่ประสบความสำเร็จ พวกเขามักจะมีโอกาสที่จะเข้าเรียนมหาลัยดีๆ หรือทำงานที่ได้รับค่าแรงสูงน้อยกว่าเด็กที่มีความสามารถเพียงเล็กน้อย แต่มาจากบ้านที่มีฐานะร่ำรวย

ถึงแม้ว่าพวกเขาจะมีโอกาสที่น้อยกว่าแต่ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะไม่ประสบความสำเร็จ เพียงแต่หนทางที่จะก้าวขึ้นไปยังจุดหมายนั้นอาจจะมีอุปสรรค เพราะงานวิจัยก็ได้กล่าวไว้เช่นกันว่า เด็กอนุบาลที่เรียนดี แต่มาจากฐานะทางบ้านที่ไม่ดี มีโอกาสถึง 71% ที่จะสามารถประสบความสำเร็จในวัย 25 ปี ส่วนเด็กที่มาจากบ้านที่มีฐานะอัตราประสบความสำเร็จของพวกเขาอยู่ที่ 91%

แต่อย่างไรก็ตามความสำเร็จนั้นมีตัวแปรหลายอย่าง Carnevale กล่าวว่า หลายคนมักโทษว่าโรงเรียนในเรื่องของการพัฒนาเด็ก แต่ในความเป็นจริงแล้วมันมีอะไรที่ซับซ้อนมากกว่านั้น ในเรื่องตัวแปรของเพศ เชื้อชาติ รวมถึงการเลี้ยงดูในบ้าน บ้านที่มีฐานะมักจะลงทุน และใช้เวลากับเด็กมากกว่าบ้านที่มีฐานะยากจน นั่นทำให้เด็กสามารถเรียนรู้และเสริมสร้างพัฒนาการได้มากกว่า อีกหนึ่งสิ่งคืออุปสรรค อันนี้ขึ้นกับตัวเด็กเอง แต่ละคนมีอุปสรรคที่ไม่เหมือนกัน แต่มันขึ้นกับว่าเด็กคนไหนเลือกที่จะลุกและเดินหน้าต่อ หรือจมอยู่กับมัน

ถึงแม้เราจะแก้ความได้เปรียบทางฐานะไม่ได้ นโยบายทางการศึกษาที่เท่าเทียมกันของรัฐจึงเป็นเรื่องสำคัญ หลายคนมองว่าการลงทุนในเรื่องนี้มีค่าใช้จ่ายที่มากเกินไป แต่การสูญเสียทรัพยากรบุคคลเป็นเรื่องที่สำคัญกว่าคุณคิดเหมือนกันไหม?

อ้างอิง