ไม่กี่วันที่ผ่านมาหลายคนคงได้ยินข่าวเรื่องไฟไหม้ครั้งใหญ่ในรอบหลายปีที่เกิดขึ้นที่ ‘อเมซอน’ กันมาบ้าง แต่น้อยคนนักที่จะให้ความสนใจกับข่าวนี้ วันนี้เราจะพาชาวแบไต๋ทุกท่านไปเกาะติดสถานการณ์และความรุนแรงที่เกิดขึ้นในป่าอเมซอนกันว่ามันมีความสำคัญอย่างไร ทำไมคนทั้งโลกจึงให้ความสนใจกับเหตุการณ์ในครั้งนี้
อเมซอน (Amazon) เป็นป่าดิบชื้นที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของโลกกินพื้นที่ทั้งหมด 9 ประเทศ แต่พื้นที่กว่า 60% ตั้งอยู่ในเขตประเทศบราซิล ทวีปอเมริกาใต้ ภายในป่ามีพรรณไม้หลายชนิด และ กว่า 75% ของพืชพันธุ์ในป่า สามารถพบได้ที่อเมซอนเท่านั้น ยังไม่พอป่าผืนนี้ยังถือเป็นบ้านหลังใหญ่ของสัตว์จำนวนมากอีกด้วย ด้วยความที่อเมซอนเป็นป่าขนาดใหญ่มันจึงถูกขนานนามว่าเป็นปอดของโลก ที่ผลิตออกซิเจนขึ้นสู่บรรยากาศถึง 20% วิกฤติการณ์ครั้งนี้จึงไม่ใช่เรื่องที่เราจะปล่อยผ่านไปได้เพราะนั่นหมายความว่าพื้นที่ที่ผลิตอากาศให้เราหายใจกำลังลดลงไปเช่นกัน
โดยปกติแล้วป่าอเมซอนจะมีการเกิดไฟป่าขึ้นเป็นประจำอยู่แล้วทุกปี แต่ในครั้งนี้มันกลับต่างออกไปเพราะ เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2562 BBC รายงานว่า สถาบันวิจัยอวกาศแห่งชาติ หรือ The National Institute for Space Research (INPE) กล่าวว่า จากรายงานภาพจากดาวเทียมพวกเขาพบว่าในปีนี้ไฟป่าในพื้นที่อเมซอนเพิ่มสูงขึ้นกว่า 83% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของเมื่อปีที่แล้ว ตั้งแต่เดือนมกราคมที่ผ่านมา มีไฟป่าเกิดขึ้นแล้วกว่า 72,000 ครั้ง และ แค่ในช่วง 15-21 สิงหาคมก็เกิดไฟป่าขึ้นอีกกว่า 9,500 ครั้ง รวมแล้วกว่า 3 สัปดาห์ นับแต่ที่เกิดไฟป่าติดต่อกัน และที่สำคัญมันยังไม่มีวี่แววว่าจะดับลงได้ สถาณการณ์ตอนนี้ทำได้เพียงแค่ควบคุมไม่ให้ไฟลามไปยังพื้นที่อื่นเท่านั้น
ถึงแม้ไฟป่าจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นเองเป็นประจำตามธรรมชาติ (ซะส่วนน้อย) ก็ตาม ได้มีคนตั้งข้อสังเกตว่าเหตุการณ์ไฟป่าในพื้นที่อเมซอนนั้นเพิ่มสูงขึ้นหลังจากที่นาย Jair Bolsonaro ขึ้นรับตำแหน่งประธานนาธิบดีบราซิล และได้มีการปรับกฏหมายในเรื่องของการดูแลพื้นที่ป่า นักอนุรักษ์บางกลุ่มตั้งข้อสงสัยว่าการปรับข้อกฏหมายดังกล่าวอาจเป็นที่มาที่ทำให้ความเข้มงวดบทลงโทษเรื่องการบุกรุกพื้นที่ป่าลดลง ทำให้ประชาชนเริ่มเผาป่าเพื่อหาผลประโยชน์มากขึ้น
ข่าวนี้ดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่ในความเป็นจริงมันส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อการใช้ชีวิตของเราอย่างมาก เพราะหากเราเสียพื้นที่ป่าไป นั่นหมายความว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดขึ้นมาจะสามารถถูกดูดซับด้วยต้นไม้ได้ลดลง นี่ยังไม่รวมผลกระทบของควันไฟจำนวนมากที่ส่งผลกระทบต่อเมืองข้างเคียง และ ชั้นบรรยากาศโลกอีก สำหรับเรื่องนี้ในไทยอาจจะดูเงียบ ๆ แต่บนโลกโซเชียลในหลายประเทศต่างพร้อมใจกันติดแฮชแทก #prayforamazon เพื่อตระหนักให้เห็นถึงปัญหาดังกล่าวกันเป็นจำนวนมาก
อย่างไรก็ตามสิ่งที่เราช่วยได้อาจไม่ใช่การเข้าไปดับไฟ แต่อย่างน้อยเราสามารถช่วยกันลดการปล่อยมลภาวะต่าง ๆ เข้าสู่ชั้นบรรยากาศ และ หยุดทำลายสิ่งแวดล้อมได้เพียงแค่เริ่มจากตัวเรา การเปลี่ยนแปลงจากจุดเล็ก ๆ หลาย ๆ จุดรวมกันจะสามารถส่งผลกระทบที่ยิ่งใหญ่ได้ในวันข้างหน้านะคะ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส