ชีวิตวัยเรียนวัยทำงานต่างก็ต้องตื่นแต่เช้าตรู่เพื่อเริ่มกิจวัตร ยิ่งคนเมืองกรุงต้องยิ่งตื่นให้เร็วเพื่อหลีกเลี่ยงการจราจรติดขัดในชั่วโมงเร่งด่วน พอถึงวันหยุดก็อยากจะนอนตื่นสายให้สบายใจ แต่บางคนก็อาจจะโดนแม่ปลุก สามีเรียก ภรรยาบ่นแต่เช้า ต้องลุกมาทำนั่นทำนี่ เอาน่ะ! บทความนี้น่าจะมีเหตุผลดี ๆ มีสาระไว้ต่อรองขอนอนยาว ๆ ได้ในวันหยุด เพราะมีนักวิจัยชาวสวีดิช ที่ทำการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เผยข้อมูลออกมาเป็นทางการในชื่อ Journal of Sleep Research มีใจความว่า “การได้นอนหลับสนิทอย่างยาวนานในวันหยุด จะช่วยยืดอายุให้ยาวนานขึ้น”
เรามาลงลึกถึงการวิจัยในเรื่องนี้กันอีกสักหน่อย ว่าการนอนหลับยาว ๆ ในวันหยุดเนี่ย มันส่งผลดีอย่างไรบ้าง
ลืมทฤษฎีเก่าที่ว่า “นอนหลับวันละ 8 ชั่วโมงจะดีต่อสุขภาพ” ไปซะ
เราถูกปลูกฝังกันมายาวนานว่า การนอนหลับที่เพียงพอในแต่ละวันคือ 8 ชั่วโมง แต่การวิจัยใหม่นี้ที่เจาะจงในเรื่องระยะเวลาการนอนที่มีผลต่อสุขภาพมนุษย์นั้นได้ผลที่แย้งกับทฤษฎีเก่าโดยสิ้นเชิง ผลการวิจัยล่าสุดสรุปออกมาดังนี้ การได้นอนหลับสั้น ๆ ในวันทำงาน แต่ได้มานอนหลับชดเชยให้ยาวนานขึ้นในวันหยุดนั้นจะดีต่อสุขภาพมาก คนที่ปฏิบัติเช่นนี้จะมีอายุยืนยาวกว่าคนที่นอนหลับเฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมงด้วยซ้ำ
ได้นอนหลับมากขึ้นอายุก็จะยืนยาวขึ้น
นักวิจัยกลุ่มนี้ได้ทำการศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจังมาก พวกเขาเก็บข้อมูลจากตัวแทนชาวสวีเดนจำนวน 38,015 คน เป็นระยะเวลาถึง 13 ปี จากปี 1997 – 2010 แบ่งทุกคนออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกอายุต่ำกว่า 65 ปี อีกกลุ่มตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไป ในขณะที่ทำการเก็บข้อมูลนี้ ยังคงอิงระยะเวลามาตรฐานในการนอนไว้ที่วันละ 6-7 ชั่วโมง ปัจจัยอื่น ๆ ที่นำมาพิจารณาร่วมในการวิจัยนี้ด้วย เช่น เพศ , มวลรวมร่างกาย , สูบบุหรี่ , การออกกำลังกาย รวมไปถึงเวลาในการทำงานในแต่ละสัปดาห์ แล้วนำข้อมูลที่ได้มาอิงกับ “ดัชนีการตายแห่งชาติ”
ในการวิจัยนี้ ได้แบ่งกลุ่มตัวอย่างออกเป็นกลุ่มใหญ่ดังนี้
กลุ่มนอนระยะสั้น / มีแนวโน้มว่านอนน้อยกว่าคืนละ 5 ชั่วโมง
กลุ่มนอนระยะกลาง / นอนประมาณคืนละ 7 ชั่วโมง
กลุ่มนอนระยะยาว / นอนประมาณคืนละ 9 ชั่วโมงหรือมากกว่านั้น
ในแต่ละกลุ่มใหญ่ก็ยังแบบออกเป็นกลุ่มย่อย เพื่อศึกษาลงลึกถึงระยะเวลาการนอนในวันทำงานและวันหยุด
กลุ่มนอน สั้น-สั้น / นอนน้อยกว่าคืนละ 5 ชั่วโมงทั้งสัปดาห์
กลุ่มนอน สั้น-กลาง / วันทำงานนอนน้อยกว่าคืนละ 5 ชั่วโมง วันหยุดนอนคืนละ 7-8 ชั่วโมง
กลุ่มนอน ยาว-ยาว / นอนอย่างน้อยคืนละ 9 ชั่วโมงทั้งสัปดาห์
ตลอดระยะเวลา 13 ปี ในการเก็บบันทึกพบว่า สมาชิกในกลุ่มตัวอย่างนี้ เฉลี่ยแล้วจะตายประมาณปีละ 6 คน จาก 1,000 คน สาเหตุการตายส่วนใหญ่ก็มาจาก มะเร็ง และ โรคหัวใจ
เมื่ออิงกับผลการวิจัยแล้วก็ได้ข้อยืนยันว่า กลุ่มนอนสั้น-กลาง มีอัตราการเสียชีวิตต่ำสุด
ทอร์จอร์น อาเคอร์สเท็ดต์ (Torbjörn Akerstedt) ตัวแทนจาก สถาบันวิจัยความตึงเครียด แห่งมหาวิทยาลัยสตอกโฮล์ม ผู้ร่วมทำโครงการวิจัยนี้ออกมาสมทบว่า
“การนอนระยะยาวในวันหยุดจะช่วยชดเชยการนอนไม่พอจากวันทำงานได้”
แต่ทอร์จอร์นก็ยังแถมท้ายว่าพวกเขายังต้องทำการวิจัยเพิมเติมต่อไปในหัวข้อนี้
สรุป
การนอนหลับพักผ่อนเฉลี่ยวันละ 8 ชั่วโมง ก็ยังคงมีอัตราการตายสูงถึง 25 % แต่ถ้านอนน้อยกว่า 5 ชั่วโมงต่อวัน จะมีอัตราการตายสูงถึง 65% (เทียบจากอัตราการตายของกลุ่มคนที่นอนวันละ 6 – 7 ชั่วโมง เป็นเกณฑ์กลาง) แต่การได้นอนหลับเฉลี่ยวันละ 6 – 7 ชั่วโมงนั้นก็ยังคงไม่เพียงพอ ถ้าเราสามารถเพิ่มชั่วโมงการนอนในวันหยุดสุดสัปดาห์ เราก็จะต่ออายุออกไปได้อีกหลายปี แต่จากทฤษฎีทั้งหมดที่กล่าวมานี้ ไม่มีผลต่อกลุ่มคนที่เลยวัย 65 ปีแล้ว (ไม่ทันแล้วจ้ะ)
รู้อย่างนี้แล้ว…….เรามานอนตื่นสายในวันหยุดกันเถอะ