เมื่อวันจันทร์ที่ 26 สิงหาคมที่ผ่านมา Joko Widodo ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย ได้ออกมาประกาศย้ายเมืองหลวงไปยังจังหวัดกาลิมันตันตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกบนเกาะบอร์เนียว
สาเหตุได้เล็งเห็นว่าจาการ์ตาเมืองหลวงในปัจจุบันมีความแออัดด้วยประชากรมากกว่า 10 ล้านคน ถ้านึกภาพไม่ออกก็ประมาณเกือบสองเท่าของกรุงเทพฯ (5,569,644 คนตามหลักฐานทะเบียนราษฎร ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2561) จึงเป็นเมืองที่มีประชากรอันดับหนึ่งในอาเซียน และอันดับที่ 14 ของโลก เขตเมืองที่กระจายพื้นที่ออกไปสู่ชานเมืองรอบนอกทั้งหมดมีประชากรมากกว่า 30 ล้านคน
แค่ความหนาแน่นของประชากรยังไม่พอ ขณะนี้พื้นที่บางส่วนของจาการ์ตากำลังจมลง 25 ซ.ม. ต่อปี และพื้นที่เกือบครึ่งอยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล จากข้อมูลที่ตรวจพบว่า 30 ปีที่ผ่านมามีพื้นที่จมน้ำทะเลไปแล้ว 4 เมตร และตอนเหนือของจาการ์ตาได้จมลง 2.5 เมตรในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา และนักวิจัยคาดว่าปี 2050 จะจมใต้น้ำทั้งหมด ปัญหาเกิดจากการทรุดตัวของดินเพราะการดูดน้ำบาดาลมาใช้จำนวนมาก
จาการ์ตาอยู่ในสถานะที่ไม่สามารถแบกรับความเป็นศูนย์กลางของธุรกิจ การเงิน การค้าและบริการ ได้อีกต่อไป ควรอย่างยิ่งที่จะไปที่ใหม่
แม้ว่ายังไม่มีชื่อเมืองหลวงใหม่ แต่ในแผนบอกชัดเจนว่าจะอยู่ทางตะวันออกของกาลิมันตัน ซึ่งอยู่ระหว่างพื้นที่ของ Kutai Kertanegara และ Penajam Paser Utara ส่วนหนึ่งของเกาะบอร์เนียว ซึ่งมีความเสี่ยงน้อยที่สุดต่อภัยธรรมชาติ
การใช้งบประมาณในการย้ายเมืองครั้งนี้อยู่ที่ 466 ล้านล้านรูเปียห์ ($32,790 ล้านเหรียญ ราวหนึ่งล้านล้านบาท) ไม่ได้แพงมากเมื่อเทียบกับผลเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดจากการจราจรของจาการ์ตา 100 ล้านล้านรูเปียห์ (7,014 ล้านเหรียญ หรือ 214,545 ล้านบาท) คิดง่ายๆ ว่า 5 ปีก็คืนทุนแล้ว ขณะนี้กำลังรอรับการอนุมัติจากรัฐสภา
โครงการนี้ไม่ได้ลื่นไหลเสียทีเดียว เพราะกาลามิตันเป็นแหล่งอาศัยของลิงอุรังอุตังสัตว์ที่ใกล้จะสูญพันธุ์ ซึ่งแน่นอนนักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมกรีนพีซอินโดนีเซียได้ออกมาแสดงความเป็นห่วงว่าอยู่ในพื้นที่อนุรักษ์หรือไม่ และยังเป็นพื้นที่ไฟป่าอีกด้วย
การย้ายเมืองหลวงไม่ได้มีแค่ในอินโดนีเซียเท่านั้น ที่บราซิล ปากีสถาน ไนจีเรีย อียิปต์ สวีเดน และเมียนมาร์ ก็ย้ายกันมาแล้ว ซึ่งเชื่อว่าการย้ายเมืองหลวงในครั้งนี้อาจจะพบกับอุปสรรคบ้าง แต่เพื่อเป้าหมายอันสูงสุดทุกอย่างจะมีทางออกและสำเร็จได้
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส