การค้นหาดาวเคราะห์ที่มีลักษณะพื้นฐานที่เอื้อต่อการดำรงชีพของสิ่งมีชีวิตอาจไม่ใช่แนวความคิดใหม่ของนักวิทยาศาสตร์ แต่ก็เป็นเรื่องยากที่จะเจอดาวเคราะห์สักดวงที่มีคุณสมบัติดังกล่าวท่ามกลางจักรวาลอันกว้างใหญ่ แต่ในวันนี้ นักบินอวกาศได้เปิดเผยการค้นพบที่น่าตื่นเต้นว่า พวกเขาเจอน้ำบนดาวเคราะห์ดวงหนึ่งที่มีสภาพเอื้อต่อสิ่งมีชีวิตแล้ว!
ดาวเคราะห์ดวงนี้มีชื่อว่า K2-18b มีระยะทางห่างจากโลกไปประมาณ 111 ปีแสง (ประมาณ 650 ล้านล้านไมล์) ซึ่งถ้าว่ากันตามตรงมันเป็นระยะทางที่ไกลมากเกินกว่าที่นักวิทยาศาสตร์จะสามารถส่งสิ่งมีชีวิตไปพิสูจน์ได้ ดังนั้นทางเลือกเดียวที่เหลืออยู่คือการรอกล้องโทรทรรศน์ที่จะถูกพัฒนาขึ้นมาในปี 2020 เพื่อส่องสำรวจชั้นบรรยากาศและก๊าซที่เอื้อต่อการมีชีวิตอย่างละเอียดอีกที
แต่แน่นอนก่อนหน้านี้ทีมงานเบื้องหลังได้คาดการณ์กันว่าภายในชั้นบรรยากาศของดาว K2-18b มีน้ำเป็นองค์ประกอบกว่า 50% ด้วยการค้นพบน้ำบนดาวเคราะห์ที่ตั้งอยู่ในดาวเขตเอื้ออาศัยต่อสิ่งมีชีวิต (มีอุณหภูมิที่เหมาะสม และมีน้ำบนพื้นผิวดาวเคราะห์) ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องหยิบยกเรื่องของดาว K2-18b ขึ้นมาถกเถียงกันถึงความเป็นไปได้ที่อาจมีสิ่งมีชีวิตอยู่บนดาวดวงนั้น และอาจสามารถตอบคำถามที่รอคำตอบมาเป็นเวลานานว่า เราเป็นสิ่งมีชีวิตเดียวในจักรวาลหรือไม่?
K2-18b นี้มีขนาดใหญ่เป็น 2 เท่าเมื่อเทียบกับโลกของเรา และพื้นผิวดาวมีอุณหภูมิเย็นพอที่จะมีน้ำที่อยู่ในอุณหภูมิระหว่าง 0-40 องศาเซลเซียส
ถึงแม้ว่าในตอนนี้จะยังพิสูจน์ไม่ได้แน่ชัดถึงการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตบนดาวเคราะห์ดังกล่าว แต่การค้นพบน้ำบนดาวเคราะห์ดวงอื่นนอกจากโลกเป็นเรื่องน่าเหลือเชื่อและสร้างความตื่นเต้นให้กับวงการวิทยาศาสตร์เป็นอย่างมาก แต่การศึกษายังคงตองดำเนินต่อไป เพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลที่แน่ชัด
แหล่งที่มา – BBC NEWS
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส