ตลอดระยะเวลาแห่งการสำรวจอวกาศ มีมนุษย์กว่า 564 คน ขึ้นสู่ชั้นวงโคจร และ 65 คนในนั้นเป็นผู้หญิง ถึงแม้ว่าในความเป็นจริงแล้วผู้หญิงคนแรกที่ได้ขึ้นไปบนอวกาศเป็นชาวรัสเซีย Valentina Tereshkova ในปี 1963 แต่ในอีก 20 ปี ต่อมา NASA ก็สามารถส่งนักบินอเมริกาหญิงคนแรกขึ้นไปได้เช่นกัน
ในปี 1983, Sally Ride เป็นนักบินอเมริกาหญิงคนแรกได้ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ (แต่เธอเป็นผู้หญิงคนที่ 3 ที่ได้ไปอวกาศ) ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาจึงได้มีการเปลี่ยนแปลงมากมายเกิดขึ้นในวงการนักบิน ดร. Varsha Jain นรีแพทย์อวกาศ เธอเป็นหนึ่งในแพทย์วิชาการคนแรกที่ให้ความสำคัญกับการวิจัยด้านสุขภาพของผู้หญิงที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ ปัจจุบันเธอเป็นสมาชิกของการฝึกอบรมการวิจัยสตรีในปี 2562 ที่ศูนย์ MRC เพื่อสุขภาพการเจริญพันธุ์ที่มหาวิทยาลัย Edinburgh เธอให้สัมภาษณ์กับ BBC Radio 5 Live ถึงผลกระทบที่น่าสนใจบนอวกาศผ่านการถามตอบกับ Emma Barnett ผู้ดำเนินรายการไว้ว่า
การปรับตัวในอวกาศของผู้ชาย และผู้หญิงต่างกันไหม?
การปรับตัวเข้ากับพื้นที่ในอวกาศของทั้งผู้ชายและผู้หญิงค่อนข้างเหมือนกัน แต่สิ่งที่ต่างกันคือ เมื่อผู้หญิงเข้าสู่อวกาศ พวกเธอมีแนวโน้มที่จะป่วยมากกว่า ในขณะที่ผู้ชายจะมีความรู้สึกป่วยเกิดขึ้นเมื่อกลับมายังโลก นอกจากนี้ผู้ชายยังมีปัญหาเรื่องการมองเห็นและการได้ยิน ในขณะที่นักบินหญิงของเราไม่มีอาการดังกล่าวเมื่อกลับมาบนโลก แต่พวกผู้หญิงจะได้รับปัญหาในเรื่องความดันโลหิตแทน สิ่งเหล่านี้อาจเกิดจากความแตกต่างของฮอร์โมนในร่างกาย และสรีระวิทยา แต่การศึกษาในระยะยาวจะทำให้เราเข้าใจความแตกต่างของมนุษย์บนโลกมากขึ้น
แล้วเรื่องของประจำเดือนเป็นอย่างไร?
ในความเป็นจริง ก่อนที่นักบินอวกาศจะออกเดินทางทีมวิศวกรจะเตรียมออกแบบเครื่องมือเครื่องใช้ต่าง ๆ เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่นักบินอยู่แล้ว แต่! เพราะการขึ้นมาในอวกาศส่วนมากมีแต่ผู้ชาย การคำนึงถึงเรื่องนี้จึงเป็นที่ถกเถียงกัน จนมายังข้อสรุปสุดท้ายคือการกินยาคุมกำเนิด เพราะมันเป็นตัวเลือกที่ปลอดภัยต่อพวกเธอมากที่สุดแล้ว แต่ในอนาคตเราอาจมีวิธีที่ดีกว่านี้ก็ได้ใครจะรู้
ความท้าทายในการเข้าห้องน้ำของผู้หญิง
ในสถานีอวกาศนานาชาติมีห้องน้ำเพียงแค่ 2 ห้องเท่านั้น และแน่นอนมันไม่ได้แยกเป็นห้องน้ำชายหญิง ในอวกาศปัสสาวะจะไม่สูญเปล่ามันจะถูกนำกลับมารีไซเคิล และวิศวกรคงไม่ได้คำนึงถึงเลือดประจำเดือนที่ออกมาด้วยแน่ ๆ บนอวกาศเลือดถือเป็นของแข็ง และมันจะไม่ได้รับการรีไซเคิล การเข้าห้องน้ำในช่วงเป็นประจำเดือนของผู้หญิงจึงเป็นเรื่องที่ท้าทายมากหากมีการยกเลิกการใช้ยาคุมกับนักบินหญิงในอนาคต
การเดินทางในอวกาศ ส่งผลต่อความสามารถในการมีลูกหรือไม่?
เรารู้ดีว่านักบินอวกาศมีความเสี่ยงที่จะได้รับรังสีอวกาศมากกว่าคนปกติ แต่หลังจากที่นักบินหลายคนจบภารกิจในอวกาศ พวกเขาก็มีลูกได้ตามปกติ ส่วนมากนักบินของเราจะมีอายุเฉลี่ย 38 ปี และ NASA ก็ยังไม่มีโครงการใด ๆ เกี่ยวกับสิ่งที่นักบินควรทำก่อนปฏิบัติภารกิจบนอวกาศ แต่ถึงอย่างนั้นการแผ่รังสีในอวกาศจะส่งผลให้ปริมาณอสุจิลดลง แต่เมื่อกลับมายังโลกมันก็ถูกสร้างให้กลับมามีความสมบูรณ์เช่นเดิม ส่วนผู้หญิงยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ารังสีในอวกาศจะส่งผลอย่างไรต่อไข่ของพวกเธอ แต่เพราะไข่ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นมาได้ตลอดทั้งชีวิต ทางทีดี NASA จึงแนะนำให้แช่แข็งไข่ของพวกเธอไว้หากพวกเธอต้องการมีลูกในอนาคต
ดร. Varsha Jain ยังเล่าอีกว่าเธอกลายมาเป็นนรีแพทย์อวกาศได้เพราะความชื่นชอบในอวกาศ เธอชอบภาพยนตร์ Star Trek และตัวละครหญิงต่าง ๆ ในเรื่องนั้น ๆ ก่อนที่เธอจะเรียนแพทย์เสียอีก เมื่อเธอโตขึ้นเธอจึงมองเห็นช่องโหว่ด้านการศึกษาในเรื่องนี้ เธอจึงก้าวเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของ NASA เพื่อศึกษาเติมเต็มข้อมูลที่ขาดหายไป แต่เมื่อสัมภาษณ์ถึงการขึ้นไปบนอวกาศด้วยตัวเองแล้วเธอกลับปฏิเสธ โดยให้เหตุผลว่าเธอรู้เรื่องราวของสรีระของมนุษย์มากเกินไปเธอจึงเลือกที่จะอยู่บนโลกมนุษย์ดีกว่า
อ้างอิง BBC NEWS
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส