คุณจะสามารถมองเห็นสิ่งที่มองไม่เห็นได้อย่างไร? คำถามนี้ดูกำกวมใช่ไหม? แต่เรื่องแบบนี้นักวิทยาศาสตร์กลับชอบทำนัก เมื่อ Space.com รายงานว่า นักวิทยาศาสตร์ได้ค้นพบวิธีใหม่ในการค้นหาหลุมดำที่ซ่อนตัวอยู่ในอวกาศที่มืดมิดได้โดยการสังเกตแสงจากดวงดาวที่เปลี่ยนไปรอบ ๆ ตัวมัน อืม… เอากับเขาสิ

เป็นที่รู้กันดีว่าหลุมดำนั้นดูดกลืนทุกสิ่งอย่างที่มันผ่านไม่เว้นแม้แต่แสง นั่นจึงทำให้เราสามารถเห็นมันได้อย่างชัดเจน หลุมดำที่หาง่ายที่สุดคือหลุมที่ก่อตัวเป็นระบบดาวคู่กับดาวฤกษ์ เช่นหลุมดำ Cygnus X-1 เพราะหลุมดำจะโคจรคู่กันกับดาวฤกษ์ เมื่อหลุมดำโคจรรอบดาวฤกษ์มันจะทำการดึงสสารต่าง ๆ ออกมาจากดาวหลังจากนั้นจะดูดกลืนสสารเหล่านั้นเข้าไป และปล่อย X-Ray (รังสี X) ออกมา นักวิทยาศาสตร์จะสามารถตรวจสอบรังสี X ที่ถูกปล่อยออกมาได้ ทำให้พวกเขารู้ว่าหลุมดำอยู่ตรงไหน

แต่วิธีการนี้มีข้อจำกัดเพราะมันจะใช้ได้เฉพาะกับหลุมดำที่อยู่ใกล้กับดาวฤกษ์ที่มันโคจรด้วยเท่านั้น อย่างไรก็ตามเหล่านักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ายังมีหลุมดำอีกจำนวนมากที่ไม่ได้โคจรใกล้ดาวฤกษ์ นั่นทำให้พวกมันหายาก เหมือนกับเล่นซ่อนหาอยู่ในอวกาศเลยทีเดียว

งานวิจัยชิ้นใหม่นี้ทำให้เราเห็นว่าตอนนี้นักวิทยาศาสตร์มีวิธีการที่จะหาหลุมดำที่ลอยเคว้งไม่ใกล้กับดาวฤกษ์ดวงไหนได้แล้ว โดยการใช้ spectroscopy (เครื่องมือในการตรวจวัดปริมาณแสง โดยอาศัยคุณสมบัติของความยาวคลื่นแสง ที่สัมพันธ์กับชนิดของสสาร)

เพื่อที่จะทำการระบุหลุมดำเหล่านั้น นักวิทยาศาสตร์จะเริ่มทำการค้นหา Doppler shift (ค่าความยาวแสงที่ดาวปล่อยออกมา) ที่มีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไป การเปลี่ยนแปลงของ Doppler shift สามารถช่วยชี้เป้าแหล่งกำเนิดแรงดึงดูดที่แข็งแกร่งได้ เมื่อความสว่างของดวงดาวเริ่มเปลี่ยนแปลงไปในรูปแบบที่แน่นอน แสดงว่ามีวัตถุขนาดใหญ่กำลังเคลื่อนผ่านดวงดาวดวงนั้น เมื่อนำเงื่อนไขทั้งสองมารวมกันเราก็จะสามารถหาหลุมดำได้!

ในตอนนี้นักวิทยาศาสตร์กำลังอยู่ในขั้นตอนการพิสูจน์ประโยชน์ของวิธีการดังกล่าวอยู่ หากพวกเขาประสบความสำเร็จเราอาจมีเครื่องมือใหม่สำหรับค้นหาหลุมดำจำนวนมากทั่วกาแล็กซีของเรา

อ้างอิง Engadget

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส