ฟังเหมือนเป็นเรื่องตลกที่เหล่านักวิทยาศาสตร์จะต้องไปเสียเวลาในการทดลองมื้อเที่ยงและมื้อค่ำของพวกหมึกกระดอง (cuttlefish) แต่คุณรู้ไหมว่าการพิสูจน์แนวความคิดนี้เผยให้เราเห็นถึงกระบวนการความคิดที่ซับซ้อนมากกว่าที่เราคิดไว้ซะอีก
เหล่าทีมวิจัยทำการทดลองโดยการป้อนกุ้ง (อาหารโปรดของหมึกกล้วย) เป็นอาหารเย็นทุกวัน เพียงไม่กี่วันพวกมันก็เรียนรู้ที่จะเริ่มปรับพฤติกรรมการกินระหว่างวัน โดยการลดการกินปูในมื้อเที่ยงลงเพื่อรอกินกุ้งในมื้อเย็น หลังจากนั้นนักวิจัยก็เปลี่ยนวิธีการ โดยการสุ่มให้กุ้งและไม่ให้กุ้งในมื้อเย็น พบว่าหมึกกระดองก็ปรับพฤติกรรมการกินตามโดยการกินปูในมื้อเที่ยงมากขึ้นแทน
การสุ่มให้และไม่ให้กุ้งในมื้อเย็น จะทำให้เหล่าหมึกไม่สามารถคาดเดาได้ว่าอาหารเย็นในวันนั้นได้ ดังนั้นพวกมันจึงปรับพฤติกรรมการกิน ตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นตรงหน้า (ว่าง่าย ๆ พวกมันจะไม่รออนาคตที่ไม่แน่นอน)
หมึกกระดองเป็นสัตว์ที่กินได้ทั้ง ปลา ปู กุ้ง และ หมึก คำถามคือแล้วรู้ได้อย่างไรว่ามันชอบกินกุ้งที่สุด? นักวิจัยทำการทดลองในหมึกกระดอง 29 ตัว 5 วัน วันละ 5 ครั้ง พวกเขาให้ปูและกุ้งในปริมาณที่เท่ากันในเวลาเดียวกัน แน่นอนพวกหมึกเลือกกินกุ้งมากกว่าปู นักวิจัยจึงสรุปได้ว่าพวกมันชอบกินกุ้ง
หมึกกระดองเป็นสัตว์ที่มีระบบประสาทส่วนกลางขนาดใหญ่ ช่วยให้พวกมันเรียนรู้ได้ตั้งแต่อายุยังน้อย พวกมันสามารถจดจำสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอดีต และใช้ข้อมูลนี้เพื่อปรับพฤติกรรมของพวกมันในอนาคตด้วยพฤติกรรมการเรียนรู้ดังกล่าวทำให้นักวิจัยมั่นใจว่าพวกมันสามารถเรียนรู้รูปแบบการให้อาหาร การล่า และการปรับตัวให้เข้ากับสาถนการณ์ต่าง ๆ ได้ ไม่เพียงแค่กินให้ท้องอิ่มเท่านั้น แต่พวกมันยังเรียนรู้ที่จะปรับตัวเพื่ออาหารจานโปรดของพวกมันได้อีกด้วย ด้วยวิธีการปรับตัวของเหล่าหมึกกระดอง ทำให้นักวิทยาศาสตร์สามารถให้ข้อมูลเชิงลึกที่มีคุณค่าเกี่ยวกับต้นกำเนิดวิวัฒนาการของความสามารถทางสติปัญญาที่ซับซ้อนได้ ศาสตราจารย์ Nicola Clayton ภาควิชาจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัย Cambridge กล่าว
อ้างอิง m.phys.org