เคยสังเกตตัวเองมั้ย เวลาไปบุฟเฟต์กะเพื่อน จัดหนักจัดเต็มไปจนคิดว่า “อิ่มแล้วนะ” แต่พอเห็นเพื่อนตักของหวานน่าอร่อยมาก ก็อดใจไม่ได้แระ ถ้าไม่แย่งเเพื่อนกิน ก็ต้องลุกไปตักอีกจนได้ แต่ลองนึกภาพ เอ๊! กระเพาะเรามันก็น่าจะเต็ม ยืดสุดแล้วนี่นะ แล้วทำไมเราถึงใส่ของหวานไปได้เพิ่มอีกล่ะเนี่ย ถ้าเรามีข้อสงสัย นักวิทยาศาสตร์ก็สงสัยเช่นกัน แล้วก็มีกลุ่มนักวิทยาศาสตร์ใจดี ที่ไม่รู้ว่าใครจ้างให้มาศึกษาเรื่องเหล่านี้ พวกท่านเหล่านี้ก็มีคำตอบมาให้เราด้วยครับ

นักวิทยาศาสตร์อธิบายให้ฟังก่อนเลยว่า การที่เราสามารถกินของหวานได้อีก ถึงแม้จะอิ่มแปล้แล้วก็ตาม นักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อปรากฏการณ์นี้ว่า “กระเพาะสำหรับของหวาน” (dessert stomach) แล้วผู้ที่มาอธิบายเรื่องราวนี้ก็คือ ศาสตราจารย์ รัสเซล คีสต์ ซึ่งเคยศึกษาปรากฏการณ์นี้อย่างจริงจัง และเผยแพร่ออกมาเป็นบทความอีกด้วย

ท่านศาสตราจารย์อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า ความรู้สึกอิ่ม มันขึ้นอยู่กับการรับรู้ของสมองเรา ถ้าเรากินอาหารเดิม ๆ ไปจนแน่นกระเพาะแล้ว เซนเซอร์ในสมองเราจะเริ่มทำงาน แล้วบอกเราว่า “กินอย่างอื่นบ้างสิ”

ความรู้สึกแบบนี้มักจะมาตอนที่เรากินอาหารที่มีรสชาติเค็ม ร่างกายเราจะอยากได้ของหวานเข้าร่างกาย เซนเซอร์ในสมองก็จะบอกเราว่าอยากกินของหวาน

เห็นไหมครับว่า “ความเบื่อ” มันเป็นสัญชาตญาณพื้นฐานของมนุษย์เลย เวลาเราทำอะไรซ้ำซาก จำเจ เราจะรู้สึกเบื่อ ความอยากอาหารก็เช่นกัน ถ้าเรากินแต่ไก่ซ้ำ ๆ ไปหลายชิ้น เราก็อยากจะลองกินเค้กปิดท้ายดูบ้าง

ศาสตราจารย์รัสเซล คีสต์

ศาสตราจารย์รัสเซล คีสต์

ทฤษฎีนี้นั้น ศาสตราจารย์รัสเซลไม่ได้สร้างสมมติฐานมาลอย ๆ นะ แต่เขาได้ทำการทดลองมาแล้วด้วย กับบุคคลสองกลุ่ม
ทั้งสองกลุ่มจะได้รับมิลค์เชกรสสตรอว์เบอร์รีขนาด 300 มล. ทุกคนในสองกลุ่มก็ดื่มมันหมดภายใน 2 นาที พอเห็นว่าดื่มกันหมดแล้ว นักวิทยาศาสตร์ก็เริ่มการทดลอง

กลุ่มแรกได้รับการเสิร์ฟมิลค์เชกสตรอว์เบอร์รีอีกหลายแก้ว นักวิทยาศาสตร์บอกพวกเขาว่าดื่มให้เต็มที่ตามที่พอใจเลย
กลุ่มที่สองได้รับการเสิร์ฟมิลค์เชกรสช็อกโกแลต ในปริมาณที่ไม่จำกัดเช่นกัน
ผลปรากฏว่า กลุ่มที่สองดื่มมิลก์เชกช็อกโกแลตเพิ่มมากขึ้นกว่ากลุ่มแรกที่จะดื่มมิลค์เชกสตรอว์เบอร์รี


เป็นข้อพิสูจน์ว่าการรับรู้รสชาติที่แตกต่างจะกระตุ้นให้ร่างกายรับปริมาณอาหารได้มากขึ้น แม้ว่าจะอิ่มแล้วก็ตาม
นักวิทยาศาสตร์อธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อสมองได้รับรู้ถึงอาหารที่รสชาติแปลกใหม่มันจะไปปิดเซนเซอร์ที่บอกเราว่า “อิ่ม” ซะ

แต่ถ้าในมื้อนั้น เรากินอาหารหลากหลายรสชาติไปเรื่อย ๆ ปรากฏการณ์ “กระเพาะสำหรับของหวาน” ก็จะไม่เกิดขึ้น แต่กระเพาะจะไปบอกสมองแทนว่า “หยุดกินเถอะนะไม่ไหวแล้ว” เพราะร่างกายรู้สึกอึดอัดไปหมดแล้ว
อ่านจบแล้ว ควรไปทดลองสมมติฐานด้วยตัวเองจะดีกว่า มื้อเย็นนี้บุฟเฟต์ที่ไหนดีล่ะ?

 

อ้างอิง