ปัจจุบันการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 นั้นจะมุ่งเน้นไปที่เรื่องรถและการเผาป่า แต่แท้จริงแล้วนอกจากสองสาเหตุนี้แล้ว ก็ยังมีต้นตอจากปุ๋ยเคมีที่ทำให้เกิดปริมาณฝุ่นเยอะขึ้นอีกด้วย
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ก็ได้เก็บข้อมูลคุณภาพอากาศจากเสาสูง KU Tower ลงมาวิเคราะห์ พบว่า การเกิดฝุ่น PM2.5 ในแต่ละช่วงมีความแตกต่างกันไป โดยนอกจากปัจจัยทั่วไปที่ทำให้เกิดฝุ่น PM2.5 แล้ว ทางคณะสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ยังพบว่ามีฝุ่น PM2.5 ที่เกิดจากการทำปฎิกริยาทางเคมีในอากาศที่เรียกว่า “Photochemical Smog” ซึ่งเคยเกิดขึ้นใน Los Angeles แล้วด้วย
จากงานวิจัยพบว่า สารตั้งต้นของ PM 2.5 คือ ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์และแอมโมเนีย ประกอบกับกลไกการปลดปล่อยสารประกอบไฮโดรคาร์บอนประเภทสารอินทรีย์ระเหยง่ายจากพืช เช่น ก๊าซไอโซพรีน ก๊าซโมโนเทอร์พีน รวมถึงละอองสารไฮโดรคาร์บอน ไอระเหยของสารที่ใส่ในสเปรย์ ซึ่งก๊าซเหล่านี้จะทำปฏิกิริยากับไนโตรเจนออกไซด์ โดยมีแสงอาทิตย์ที่ตกกระทบในชั้นบรรยากาศใกล้พื้นผิวโลกเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาดังกล่าว ทำให้เกิดเป็นก๊าซโอโซนซึ่งปกติจะไม่มีอยู่ในชั้นบรรยากาศที่มนุษย์อาศัยอยู่
หลังจากเกิดก๊าซโอโซนขึ้นมาแล้ว ตัวโอโซนที่เกิดขึ้นจะไปทำปฏิกิริยากับ VOC สารระเหยต่างๆ ทำให้เกิดเป็นละอองขนาดเล็กซึ่งจัดอยู่ในกลุ่ม PM 2.5 ส่งผลให้มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นตาม PM 2.5 ที่เกิดขึ้นจากการทำปฏิกิริยาทางเคมีตามที่กล่าวข้างต้นนี้ก็จะไปผสมโรงกับฝุ่น PM 2.5 ที่เกิดจากการเผาไหม้ในที่โล่งและการจราจร
นอกจากการเผาป่าและควันรถแล้ว PM2.5 ยังเกิดจาก สารประกอบไฮโดรคาร์บอน ประเภทสารอินทรีย์ระเหยง่าย และปุ๋ยในการเกษตรที่มีส่วนผสมของไนโตรเจน ซึ่งสารตั้งต้นของ PM 2.5 คือ ก๊าซไนโตรเจนออกไซด์และแอมโมเนียนี่เองล่ะครับ
อ้างอิง Thaipublica
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส