ที่จริงแล้วการดูหนังเศร้าแล้วร้องไห้นี่ น่าจะเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ทั่วไปนะ น้อยคนนะที่จะไม่เคยผ่านประสบการณ์นี้ เพียงแต่ว่าบางคนอาจจะร้องไห้ง่าย บางคนอาจจะร้องไห้ยากกว่าแค่นั้นเอง แต่ความรู้สึกพื้นฐานของคนส่วนใหญ่ก็ยังมองว่าการดูหนังแล้วร้องไห้เป็นเรื่องน่าอาย อายแฟน อายเพื่อน อายญาติที่นั่งดูอยู่ด้วย หรือถ้าไปดูในโรงหนังก็จะอายคนรอบข้าง บางทีเพื่อนก็ล้อว่า “ขี้แย” เพราะการร้องไห้ เป็นอาการแสดงออกถึงความอ่อนแอทางอารมณ์ นั่นคือความเข้าใจพื้นฐานของเรา แต่นักวิทยาศาสตร์กลับมองตรงกันข้ามจากที่เราเข้าใจมาตลอด

พอล เจ. แซก

พอล เจ. แซก

พอล เจ. แซก นักประสาทวิทยาชาวอเมริกัน (Neuroeconomist) แห่งมหาวิทยาลัย แคลร์มอนต์ แกรดูเอต เขาและทีมวิจัยได้ศึกษาในเรื่องนี้แล้วได้ข้อยืนยันว่า คนที่ร้องไห้ระหว่างดูหนังนั้น

“เป็นผู้ที่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น พวกเขารู้จักวิธีควบคุมบริหารอารมณ์ แล้วคนพวกนี้จะควบคุมอารมณ์ได้ดีเมื่อต้องเผชิญสถานการณ์ต่าง ๆ ในแต่ละวัน”

ช่างเป็นข้อวินิจฉัยที่ดูตรงกันข้ามกับความเข้าใจพื้นฐานของเรา ๆ ท่าน ๆ เลยนะ เพื่อคลายข้อสงสัย ทางทีมวิจัยมีคำอธิบายดังนี้

1.พวกเขารู้ดีว่าเรื่องราวบนจอนั้นไม่ใช่เรื่องจริง แต่พวกเขาก็ไม่สามารถเก็บงำความรู้สึกภายในได้

พอล เจ.แซก อธิบายเพิ่มเติมว่า มันเป็นเรื่องของกระบวนการรับรู้ ถึงแม้ว่าคนที่ดูหนังแล้วร้องไห้นี้ พวกเขาต่างก็รู้ดีแก่ใจว่า เรื่องราวบนจอนั้นเป็นเหตุการณ์สมมติ แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินมาถึงฉากที่สะเทือนจิตใจ พวกเขาก็ไม่สามารถอดกลั้นความรู้สึกภายในไว้ได้

2.ตัวการคือ “ออกซิโทนิน”

ฮอร์โมนออกซิโทนิน คือ สารสื่อประสาท (neurotransmitter) ทำหน้าที่รับรู้อารมณ์ที่สื่อจากภาพบนจอหนัง เราเชื่อมโยงความรู้สึกกับเรื่องราวของหนัง แล้วก็แสดงอารมณ์ตอบโต้ออกมา ในชีวิตประจำวัน ออกซิโทนินจะทำให้เรามีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจ เป็นฮอร์โมนที่่มีปฏิกิริยาในทางบวกทำให้เรามีทัศคติที่ดีต่อโลก อีกข้อดีของออกซิโทนินก็คือทำให้รู้สึกมีความสุขมากขึ้นด้วย

3.พวกเขาเหล่านี้ไม่รู้สึกขัดเขินที่จะแสดงอารมณ์ความรู้สึกภายใน

ที่จริงแล้วคนที่ดูหนังเศร้าแล้วปล่อยโฮเลยนี่ล่ะ แท้จริงแล้วคนกลุ่มนี้จะมีพลังอารมณ์ที่แกร่ง ถึก ทน มากกว่ากลุ่มที่พยายามกลั้นน้ำตาเสียอีก พอล เจ.แซก อธิบายตรงนี้ว่า เพราะคนพวกนี้มีความกล้าพอที่จะแสดงอารมณ์ความรู้สึกออกมา พวกเขาไม่แคร์สายตาคนรอบข้าง เพราะพวกเขาคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ การดูหนังแล้วร้องไห้ไม่ใช่ความผิดที่ต้องปิดบัง

4.พวกเขาไม่สนว่าเขาจะเป็นชายหรือหญิง เด็กเล็กหรือโตแล้ว

ล้มล้างความเชื่อเดิม ๆ ที่ว่า “เป็นผู้ชาย โตแล้วต้องไม่ร้องไห้” พวกเราต่างถูกปลูกฝังมาว่า โตเป็นหนุ่มแล้วต้องไม่ร้องไห้ในที่สาธารณะ จะทำให้คนมองว่าอ่อนแอ ขี้แย เหล่านี้เป็นความเชื่อเก่า ๆ ที่ไร้เหตุผล ที่จริงแล้วการร้องไห้นั้นเป็นการแสดงออกพื้นฐานของอารมณ์ มันไม่เกี่ยวหรอกว่าจะต้องเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง ถึงจะร้องไห้ได้ พอล เจ.แซก บอกว่า ถ้าผู้ชายคนไหนที่กล้าร้องไห้ได้ในที่สาธารณะ นั่นแปลว่าเค้าไม่แคร์สายตาจากคนรอบข้าง ที่จะมองว่า มันเป็นนิสัยของผู้หญิงเท่านั้นที่จะร้องไห้แบบนี้

5.ใช้ชีวิตได้คุ้มค่า

การหลั่งฮอร์โมนออกซิโทนิน นั้นมีส่วนสัมพันธ์กับ ความเชื่อมั่นจากผู้อื่น ใครก็ตามที่ได้รับความเชื่อมั่นจากผู้คนรอบข้าง คนผู้นั้นจะมีการหลั่งออกซิโทนินในร่างกายสูง แล้วจะส่งผลให้สานสัมพันธ์กันได้ลึกซึ้งมากขึ้น การมีชีวิตแบบนี้คือการได้ใช้ชีวิตได้คุ้มค่า

ก็เป็นการดีที่จะรับรู้รับฟังไว้ กับข้อสรุปของนักวิทยาศาสตร์ ที่ว่าการดูหนังแล้วร้องไห้นั้นมีผลในทางบวกกับสภาพจิตของเรา การร้องไห้ในโรงหนังก็ยังพอเป็นเรื่องที่รับได้อยู่หรอกนะ แต่ข้อที่บอกว่าว่าควรจะให้ยอมรับว่าการ้องไห้ในที่สาธารณะแล้วดูเป็นเรื่องปกตินั้น มันก็ยังไงยังไงอยู่นะ ถ้าเกิดจะต้องไปยืนร้องไห้ในที่คนเยอะ ๆ โล่ง ๆ เนี่ย เป็นใครก็ต้องอายอยู่หรอกเนอะ

 

 

อ้างอิง