วันที่ 11 มีนาคม 2563 เวลา 11.00 นาฬิกา กระทรวงสาธารณสุขได้จัดแถลงการณ์อัปเดตสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า หรือ Covid-19 โดยนายแพทย์ โสภณ เอี่ยมศิริถาวร ผู้อำนวยการกองโรคติดต่อทั่วไป นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และนายแพทย์ณรงค์ อภิกุลวณิช รองอธิบดีกรมการแพทย์
ในปัจจุบันนี้มีการแพร่เชื้อโคโรนาไปมากกว่า 115 ประเทศ และมียอดผู้ติดเชื้อ 116,000 คนทั่วโลก เสียชีวิตแล้วกว่า 4,091 ราย แต่ในจำนวนผู้ติดเชื้อนี้ก็มีผู้รักษาหายไปแล้ว 56% ด้วยเช่นกัน ทั้งนี้การระบาดมีการแพร่กระจายมากขึ้นในโซนยุโรป แต่ทางด้านสถานการณ์ในจีนมีแนวโน้มดีขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุดในประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 6 ราย ได้แก่
- ชายไทย อายุ 21 ปี เจ้าหน้าที่ในสนามบินสุวรรณภูมิ เริ่มมีอาการไข้ มีน้ำมูก ปวดหัว ในวันที่ 8 มีนาคม หลังเข้ารับการตรวจยืนยันจากโรงพยาบาลทั้ง 2 ที่ได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อ
- ชายไทย อายุ 40 ปี เจ้าหน้าที่สนามบินสุวรรณภูมิ เริ่มป่วยด้วยอาการไข้ ไอ มีเสมหะ ในวันที่ 7 มีนาคม และได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อในวันที่ 9 มีนาคม
- ชายไทย อายุ 25 ปี พนักงานบริษัท มีอาการไข้ ปวดกล้ามเนื้อในวันที่ 25 กุมภาพันธ์ หลังจากเข้ารับการรักษาพบว่ามีอาการปอดอักเสบแบบไม่ทราบสาเหตุ ตอนนี้รับการรักษาอยู่ที่โรงพยาบาลบำราศนราดูร
- หญิงไทย อายุ 27 ปี เดินทางกลับจากเกาหลีใต้ มีอาการไข้ ไอ มีน้ำมูก ในวันที่ 8 มีนาคม เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเมื่อวันที่ 10 มีนาคม
- ชายไทย อายุ 40 ปี เดินทางกลับจากญี่ปุ่นเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ เข้ารับการตรวจพบเชื้อไวรัส
- ชายชาวสิงคโปร์ อายุ 36 ปี เจ้าของกิจการ มีอาการไข้ ไอ ปวดเมื่อย เมื่อวันที่ 6 มีนาคม ตรวจพบเชื้อในวันที่ 9 มีนาคม และเข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลบำราศนราดูร
จากยอดผู้ติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นทำให้ตอนนี้ไทยมีผู้ติดเชื้อทั้งหมด 59 ราย หายดีแล้ว 34 ราย รักษาตัวอยู่ 24 ราย และเสียชีวิต 1 ราย
ทางด้านแรงงานไทยผิดกฏหมายจากเกาหลีใต้ที่ได้ทำการกักตัวอยู่ที่ฐานทัพเรือสัตหีบนั้นมีจำนวนทั้งหมด 241 ราย ยังตรวจไม่พบผู้ติดเชื้อ แต่ทั้งนี้ก็จะทำการกักตัวให้ครบกำหนด 14 วันดังที่ได้แจ้งไว้ และด้วยความร่วมมือจากประชาชนชาวไทยทำให้สามารถตามตัวแรงงานที่หนีด่านตรวจ 80 คนได้ครบแล้ว และจะนำมากักตัว พร้อมตรวจหาเชื้อตามลำดับ
นายแพทย์โอภาส ได้แถลงเพิ่มเติมถึงกรณีของหน้ากากอนามัยในสถานพยาบาลไม่เพียงพออีกว่าในขณะนี้รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข และรัฐมนตรีช่วยได้กระจายหน้ากากอนามัยสู่โรงพยาบาลต่าง ๆ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว เรื่องความปลอดภัยในการใช่หน้ากากนั้นอยากให้ประชาชนแยกแยะประเภทของหน้ากากตามกลุ่มเสี่ยง และความจำเป็น อย่างเช่นหน้ากาก N95 เป็นหน้ากากที่เหมาะสำหรับบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งทางโรงพยาบาลมีอยู่แล้ว หน้ากากอนามัยแบบธรรมดา (หน้ากากอนามัยทางการแพทย์) เหมาะสำหรับผู้ติดเชื้อ หรือบุคลากรในโรงพยาบาลที่มีความเสี่ยงได้รับเชื้อ และหน้ากากผ้าเหมาะสำหรับบุคคลทั่วไปที่ไม่ติดเชื้อ
ทั้งนี้กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ออกมาแนะนำการเลือกใช้ผ้าทำหน้ากากให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุดได้แก่ผ้าฝ้ายมัสลิน เพราะเมื่อทำการทดสอบใต้กล้องจุลทรรศน์แล้วพบว่ามีช่องว่างระหว่างไยผ้าขนาดเล็ก สามารถป้องกันละอองฝอยได้ เมื่อทำการซักหลายครั้งเนื้อผ้าไม่ย้วย และสามารถหาซื้อได้ง่าย แต่หากหาซื้อไม่ได้ก็สามารถใช้ผ้านาโน และผ้าฝ้ายดิบทำได้เช่นกัน
ตอนนี้ทางกรมสาธารณสุขยังไม่มีประกาศให้สถานการณ์การแพร่ระบาดเข้าสู่เฟสที่ 3 พร้อมเน้นย้ำให้ประชาชนแจ้งประวัติการเดินทางไปต่างประเทศทุกครั้ง แม้ไม่ได้ไปประเทศกลุ่มเสี่ยงก็ตาม ที่สำคัญการกินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ก็ยังคงเป็นการป้องกันตนเองที่ประชาชนควรปฎิบัติเพื่อลดอัตราการติด/ แพร่เชื้อ
อ้างอิง 1
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส