ตอนนี้มีประกาศ “ปิดสถานบริการ” ในเขตกทม.และ ปริมณฑล แถมยังต้องลุ้นต่อว่าจะมีการ “ปิดเมือง” เกิดขึ้นหรือไม่ และไม่รู้ว่าจะต้อง “ปิดปากปิดจมูก” ด้วยหน้ากากไปถึงเมื่อไหร่ เราเลยอยากชวนคุณให้ตื่นเช้ามา “ปิดไฟ” แหงนหน้ามองฟ้า ยลความงามของ “ดาวเคราะห์ชุมนุม” และ “ดาวเคียงเดือน” คลายเครียดกันไปพลางๆ ก่อน

นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กล่าวว่า ช่วงเช้ามืด เวลา 03.30 น. เป็นต้นไป ของวันที่ 18 – 20 มีนาคม 2563  จะเกิดปรากฏการณ์ “ดาวเคียงเดือน” และ “ดาวเคราะห์ชุมนุม” มองเห็นด้วยตาเปล่าได้ทั่วประเทศหากฟ้าใสไร้เมฆหมอก โดยแต่ละวันดาวเคราะห์และดวงจันทร์จะปรากฏในตำแหน่งที่แตกต่างไป ดังนี้

18 มีนาคม 2563 – ดาวอังคารเคียงดวงจันทร์เสี้ยว ข้างแรม 10 ค่ำ ห่างประมาณ 5 องศา และดาวอังคารเคียงดาวพฤหัสบดี ห่างประมาณ 1.5 องศา

19 มีนาคม 2563 – ดวงจันทร์ข้างแรม 11 ค่ำ จะเคลื่อนลงมาเคียงดาวเสาร์ ห่างเพียง 2.6 องศา ในขณะที่ดาวอังคารจะเคลื่อนเข้าใกล้ดาวพฤหัสบดีมากขึ้น

20 มีนาคม 2563 – ดาวอังคารและดาวพฤหัสบดีจะเข้าใกล้กันที่สุดในระยะห่างเพียง 0.8 องศา

ดาวเคราะห์ชุมนุมคืออะไร ?

หลายคนอาจเคยชมดาวเคียงเดือน หรือเห็นรูปดวงจันทร์ยิ้มเพราะมีดาวเคราะห์เคลื่อนมาอยู่ใกล้ ๆ กันมาบ้าง ดาวเคราะห์ชุมนุมก็เป็นการเคลื่อนที่เข้าใกล้เช่นกัน แต่เป็นการเคลื่อนที่เข้าใกล้ระหว่างดาวเคราะห์ตั้งแต่ 2 ดวงขึ้นไป ปรากฏบนท้องฟ้าด้วยระยะห่างเชิงมุมไม่เกิน 5 องศา (หากยกมือเหยียดแขนขึ้นฟ้า 1 องศา ห่างกันประมาณ 1 นิ้วก้อย)

ปรากฏการณ์ “ดาวเคียงเดือน” และ “ดาวเคราะห์ชุมนุม” ถือเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เกิดขึ้นเป็นประจำ เนื่องจากดวงจันทร์และดาวเคราะห์เปลี่ยนตำแหน่งบนท้องฟ้าไปเรื่อย ๆ ตามแนวสุริยวิถี ดังนั้น การที่ดวงจันทร์และดาวเคราะห์ปรากฏบนท้องฟ้าในทิศเดียวกัน หรือเคลื่อนที่มาอยู่ในตำแหน่งใกล้เคียงกันจึงถือเป็นเรื่องปกติ

ไหน ๆ กิจกรรม งานชุมนุมต่าง ๆ ก็งดไปแล้ว ปิดไฟนอนอยู่บ้านมองดาวเคราะห์ชุมนุมแทน ปลอดภัยไร้กังวลไม่ติดโรคแน่นอน

 

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส