ท่ามกลางการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ภาคอุตสาหกรรมและธุรกิจต่างประสบปัญหาชะงักงัน แต่นั่นไม่ใช่กับภารกิจสำรวจดาวอังคารของจีน
สัปดาห์ที่ผ่านมาสื่อจีนหลายรายรายงานว่า โรคระบาดนี้ไม่กระทบต่อกำหนดการของภารกิจสำรวจดาวอังคารในเดือนกรกฎาคม 2563 เรย์มอนด์ อาร์วิดสัน (Raymond Arvidson) นักธรณีวิทยาดาวเคราะห์ มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ผู้เกี่ยวข้องกับภารกิจดาวอังคารของสหรัฐอเมริกากล่าวว่า ภารกิจไปดาวอังคารในครั้งนี้มีนัยยะทางการเมืองที่สำคัญต่อจีนมาก และพวกเขาต้องทำภารกิจให้สำเร็จให้ได้ ขณะที่ หวัง ชี (Wang Chi) นักฟิสิกส์อวกาศและผู้อำนวยการใหญ่ศูนย์วิทยาศาสตร์อวกาศแห่งชาติของจีน (National Space Science Center; NSSC) ผู้รับผิดชอบอุปกรณ์ในภารกิจนี้ อธิบายว่า ปีหน้า (ค.ศ. 2021) จะเป็นปีครบรอบ 100 ปี การก่อตั้งพรรคคอมมิวนิสต์จีน หากภารกิจนี้ประสบความสำเร็จจะถือเป็นของขวัญครบรอบวาระดังกล่าว
สำหรับเดือนกรกฎาคมนี้ นอกจากภารกิจไปดาวอังคารของจีน ยังมีภารกิจยานสำรวจเพอร์เซเวียแรนส์ (Perseverance) ไปเยือนดาวอังคารของสหรัฐอเมริกา และภารกิจส่งยานสำรวจอวกาศโฮป (Hope) ของสาธารณรัฐอาหรับเอมิเรตส์ด้วย ขณะที่ยุโรปและรัสเซียซึ่งเดิมมีแผนจะส่งยานสำรวจไปยังดาวอังคารภายในปีนี้ ได้ประกาศออกมาแล้วว่า จะเลื่อนกำหนดการออกไปอีก 2 ปี ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการระบาดของไวรัส และต้องการทดสอบยานให้สมบูรณ์ที่สุด
ภารกิจนี้คืออะไร ?
ภารกิจสำรวจดาวอังคารของจีนมีชื่อว่าฮัวซิง (Huoxing) ที่แปลว่าดาวอังคาร ประกอบด้วยยานโคจร ยานสำหรับลงจอด และยานสำรวจ โครงการนี้ประกอบไปด้วยอุปกรณ์อีก 13 อย่าง รวมไปถึงกล้องถ่ายภาพหลายตัว เรดาร์สำรวจพื้นผิว เครื่องวิเคราะห์อนุภาค และอุปกรณ์ศึกษาสนามแม่เหล็ก โดยภารกิจนี้มีจุดมุ่งหมายที่จะศึกษาลักษณะทางสัณฐานของดาวอังคาร รวมทั้งภูมิศาสตร์ ธรณีวิทยา และการกระจายตัวของน้ำแข็งบนดาวด้วย
จีนยังคงทำตามแผนได้อย่างไร ?
การเดินทางไปยังดาวอังคารถือเป็นหนึ่งในภารกิจอวกาศที่จีนตั้งตารอคอยที่สุดของปี แต่เพราะการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือโควิด-19 ทำให้ทีมผู้รับผิดชอบต้องหาวิธีทำภารกิจให้ลุล่วงไปให้ได้
หวังกล่าวว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนามีผลต่อการทำงานของทีมแต่ยังไม่กระทบต่อกำหนดการที่วางไว้
หลายวันก่อนทีมของหวังต้องขนย้ายอุปกรณ์ 6 ชิ้น สำหรับกระสวยอวกาศจากปักกิ่งไปยังเซี่ยงไฮ้ เพื่อหลีกเลี่ยงโอกาสการติดเชื้อ สมาชิกในทีมจึงต้องผลัดกันขับรถบรรทุกอุปกรณ์ดังกล่าวยาวนานถึง 12 ชั่วโมง แทนการขนส่งด้วยเครื่องบินหรือรถไฟความเร็วสูง
โครงการนี้มีทีมนักวิจัยกว่า 20 ทีม มีนักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องทั่วประเทศจีนกว่า 70 คน เพื่อลดการสัมผัสกันระหว่างเจ้าหน้าผู้ปฏิบัติงานและลดจำนวนคนที่มาทำงานร่วมกันให้น้อยที่สุด ศูนย์ NSSC จึงออกนโยบายให้นักวิจัยและวิศวกรเลือกมาทำงานช่วงเช้าหรือบ่าย ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ส่วนนักวิทยาศาสตร์ที่รับผิดชอบในส่วนงานพื้นฐานสามารถทำงานจากบ้านได้ รวมทั้งใช้การสื่อสารระหว่างทีมหรือการประเมินตัดสินใจต่าง ๆ ผ่านระบบการประชุมเสมือนจริง สำหรับนักวิจัยที่มีความจำเป็นต้องเข้าไปทดสอบระบบของโครงการที่ศูนย์ ฯ นั้น รัฐบาลท้องถิ่นได้อนุญาตให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ที่ศูนย์ ฯ ได้เป็นกรณีพิเศษ ไม่จำเป็นต้องกักตัวตามนโยบายของรัฐ ทั้งนี้เพราะนี่คือโครงการใหญ่ระดับชาตินั่นเอง
อีกหนึ่งผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสคือ จะไม่มีการเชิญแขกมาในการปล่อยยานในเดือนกรกฎาคมนี้ สำหรับผู้ที่อยากร่วมสังเกตการณ์ สามารถรอชมจรวดพุ่งขึ้นสู่ท้องฟ้าได้บริเวณชายหาดในเมืองเวินชางทางตอนใต้ของเกาะไหหนาน
แม้ว่าอยู่ในภาวะวิกฤตเพียงใด แต่ความมุ่งมั่นตั้งใจของจีนที่จะปฏิบัติงานให้สำเร็จก็น่านับถือจริง ๆ หากหน่วยงานต่าง ๆ ในประเทศเรานำมาปรับใช้บ้างก็คงจะดีไม่น้อย ยังไงก็ขอภาวนาให้ภารกิจนี้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีครับ
อ้างอิง : https://go.nature.com/33GOmkc
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส