แม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีรายงานทางวิทยาศาสตร์เปิดเผยออกมาว่า รูโหว่ของโอโซนที่ทำหน้าที่ปกป้องมนุษย์จากรังสีนอกโลกบริเวณแอนตาร์กติกาแถบดินแดนขั้วโลกใต้มีขนาดเล็กลงในรอบ 30 ปีหลังมนุษย์พยายามร่วมมือสร้างความตกลงร่วมกันปล่อยสาร CFCs หรือก๊าซเรือนกระจกให้น้อยลง และการหยุดกิจการการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมทั่วโลกในช่วงนี้ก็อาจจะมีส่วนเสริมด้วยอีกทางหนึ่ง แต่จากรายงานล่าสุดพบว่า รูโหว่ในชั้นโอโซนรูใหม่แถบอาร์กติกทางฝั่งขั้วโลกเหนือกลับเพิ่มขนาดขึ้นอย่างน่ากังวล
รายงานทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับสภาพอากาศนี้เปิดเผยว่า Polar Vortex หรือกระแสลมวนบริเวณขั้วโลกได้ทำให้ชั้นโอโซนบริเวณอาร์กติกเปิดขึ้น ซึ่งเป็นกรณีที่สร้างความประหลาดใจมากกับนักวิทยาศาสตร์ เพราะไม่ทราบสาเหตุว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร กระแสลมวนชนิดนี้จะพัดเอาความเย็นเข้ามาหยุดอยู่ที่บริเวณอาร์กติก ทำให้เกิดรูบนชั้นโอโซน ซึ่งการที่กระแสน้ำวนหยุดอยู่ที่อาร์กติกก็เป็นเหตุให้ปีนี้ประเทศสหรัฐฯ และอีกหลายประเทศต้องเผชิญกับฤดูหนาวที่สภาพอากาศอุ่นขึ้น
โดยปกติแล้วปฏิกิริยาระหว่างสารเคมีต่าง ๆ อากาศที่หนาวเย็น และแสงอาทิตย์ต่างส่งผลให้ชั้นโอโซนของโลกบางขึ้นได้ อย่างไรก็ตามปฏิกิริยาทางเคมีแบบนี้ไม่ค่อยพบในขั้วโลกเหนือ ซึ่งแถบแอนตาร์กติกนั้นหนาวกว่าแถบอาร์กติก แต่เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาจากการสำรวจจากดาวเทียมพบว่า ชั้นโอโซนบริเวณอาร์กติกได้หายไปกว่า 30% ตลอดเดือนมีนาคมที่ผ่านมา The Copernicus Atmosphere Monitoring Service เผยว่าการพบแบบนี้ถือเป็นเรื่องผิดปกติ
Dramatic #ozone loss (30%) over North Pole seen from space by #IASI. Exceptional meteorological conditions led to a mini "ozone hole" in March 2020. The images are averages over 1-16 March for 2009-2020. pic.twitter.com/J0VIuxb8AA
— AC SAF (@Atmospheric_SAF) March 18, 2020
1/3 Today's #ozone analysis from @CopernicusECMWF #AtmosphereMonitoring @ECMWF for 29 March 2020 still shows almost complete depletion of O3 in a layer between ~ 80-50 hPa over the North Pole. We really are looking at an #ozonehole in the NH in 2020. pic.twitter.com/Qyb4VplPOF
— Antje Inness (@AntjeInness) March 29, 2020
สำหรับการเกิดรูในชั้นโอโซนบริเวณซีกโลกเหนือถือว่าเกิดขึ้นได้ยาก เพราะสภาพอากาศมีความแตกต่างจากแถบแอนตาร์กติกพอสมควร ในช่วงฤดูใบไม้ผลินั้นแถบอาร์กติกจะมีอากาศอบอุ่น และร่วมกับอิทธิพลของมหาสมุทรอาร์กติก ทำให้สารเคมีทำลายชั้นโอโซนได้ยากขึ้น การลดลงของชั้นโอโซนจะขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ และปฏิกิริยาทางเคมีในชั้นสตราโทสเฟียร์ด้วย ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่ออุณภูมิต่ำกว่า -80 องศาเซลเซียส
โดยนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าเมื่อวันอาทิตย์ที่ 29 มีนาคมที่ผ่านมาอุณหภูมิได้เกิดลดต่ำลงไปถึง -75 องศาเซลเซียส
ถึงแม้ว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในแถบอาร์กติกจะน้อยกว่าในแถบแอนตาร์กติกอยู่มาก แต่การเกิดขึ้นของรูบนชั้นโอโซนในบริเวณนี้นับเป็นเรื่องที่แปลก และดูเหมือนว่าสารเคมีที่เราปล่อยออกมาในแต่ละวันยังมีปริมาณมากพอที่จะทำลายชั้นโอโซนต่อไป เพียงแต่ย้ายไปเกิดจากที่หนึ่งไปเกิดกับอีกที่หนึ่งแทน นักวิทยาศาสตร์ยังคงจับตามองเหตุการณ์รูโหว่บนชั้นโอโซนนี้ต่อไป ถึงแม้จะเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นได้ยากแต่ก็เกิดขึ้นแล้ว และแน่นอนว่าเป็นเพราะฝีมือของมนุษย์เป็นส่วนใหญ่ที่ปล่อยสารเคมีขึ้นไปทำลายชั้นบรรยากาศ เพราะฉะนั้นก็อย่าเพิ่งดีใจว่าโอโซนกำลังจะกลับมาสมบูรณ์แล้ว และยังขอให้ร่วมมือปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้น้อยลงเท่าที่ทุกคนจะทำได้
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส