อาจฟังดูแปลก ๆ เมื่อเราจะได้มีช่วงเวลาที่ “ไร้เงา” กันบ้าง แต่มันมีอยู่จริงนะ แล้วยังเกิดเป็นประจำทุกปีด้วย สำหรับชาวกรุงเทพฯ เหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นในวันที่ 26 เมษายน ที่จะถึงนี้ มันเกิดขึ้นได้อย่างไร แล้วพื้นที่อื่นจะเกิดไหม มาอ่านให้หายสงสัยกันตรงนี้
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) อธิบายว่า เหตุการณ์ “ไร้เงา” เกิดจากปรากฏการณ์ “ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก” ซึ่งในไทยจะเกิดขึ้นในช่วงเดือนเมษายน – พฤษภาคม และและกรกฎาคม-กันยายน ของทุกปี
แล้วปรากฏการณ์ “ดวงอาทิตย์ตั้งฉาก” คืออะไร ทำไมจึงทำให้ “ไร้เงา” ได้ ?
ปกติแล้ว เมื่อมองจากโลก ดวงอาทิตย์จะโคจรเปลี่ยนตำแหน่งการขึ้นตกอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ด้วยตำแหน่งที่ตั้งของประเทศไทยอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร ระหว่างละติจูด 5-20 องศาเหนือ ส่งผลให้ในหนึ่งปี ดวงอาทิตย์จะเคลื่อนผ่านใกล้จุดเหนือศีรษะ หรือตั้งฉากกับพื้นที่ในประเทศไทยถึง 2 ครั้ง โดยดวงอาทิตย์จะโคจรพาดผ่านแตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ ทำให้แต่ละจังหวัดของประเทศไทยเห็นดวงอาทิตย์ผ่านเหนือศีรษะไม่พร้อมกัน
สำหรับปรากฏการณ์ดวงอาทิตย์ตั้งฉากครั้งแรกของปีนี้ ดวงอาทิตย์จะโคจรมาอยู่ในตำแหน่งตั้งฉากกับประเทศไทย เริ่มจากทางภาคใต้ ณ อำเภอเบตง จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2563 ที่ผ่านมา หลังจากนั้นดวงอาทิตย์จะขยับโคจรมาตั้งฉากกับพื้นที่ด้านเหนือขึ้นมาเรื่อย ๆ และจะตั้งฉากกับพื้นที่เหนือสุดของประเทศไทย ณ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ในวันที่ 22 พฤษภาคม 2563
สำหรับกรุงเทพมหานคร ดวงอาทิตย์จะตั้งฉากเหนือศีรษะพอดี ในวันที่ 26 เมษายน 2563 เวลาประมาณ 12:16 น. เมื่อดวงอาทิตย์ตั้งฉากกับพื้นโลก เงาจะตกอยู่ใต้วัตถุพอดี ไม่มีเงาทอดออกมา เราสามารถนำวัตถุต่าง ๆ มาวางตั้งเพื่อสังเกตการณ์ดูได้ หรือจะยืนถ่ายภาพโดยใช้มือประกบแนบขึ้นเหนือศีรษะ ก็จะพบว่าเงาของเราหายไปหรือเหลือน้อยมาก ๆ เพราะตกอยู่ใต้เท้าพอดี ไม่เฉียงไปด้านใดด้านหนึ่ง จนดูเหมือนไม่มีเงานั่นเอง
ตารางแสดงวันเวลาดวงอาทิตย์ตั้งฉากในประเทศไทยครั้งที่ 1 ของปี 2563
จังหวัด |
ครั้งที่ 1 |
|
วันที่ |
เวลา |
|
อำเภอเบตง ยะลา |
4 เมษายน |
12.18 น. |
สงขลา |
8 เมษายน | 12.19 น. |
ภูเก็ต |
10 เมษายน | 12.28 น. |
พัทยา ชลบุรี |
24 เมษายน |
12.15 น. |
ฉะเชิงเทรา |
26 เมษายน |
12.13 น. |
กรุงเทพฯ |
26 เมษายน |
12.16 น. |
ลพบุรี |
30 เมษายน |
12.15 น. |
นครราชสีมา |
30 เมษายน |
12.09 น. |
อุบลราชธานี |
1 พฤษภาคม |
11.58 น. |
นครสวรรค์ |
3 พฤษภาคม |
12.16 น. |
ขอนแก่น |
5 พฤษภาคม |
12.05 น. |
สกลนคร |
8 พฤษภาคม |
12.00 น. |
อุดรธานี |
9 พฤษภาคม |
12.05 น. |
ลำปาง |
12 พฤษภาคม |
12.18 น. |
เชียงใหม่ | 14 พฤษภาคม |
12.20 น. |
อำเภอแม่สาย เชียงราย | 22 พฤษภาคม |
12.17 น. |
ตารางแสดงวันเวลาดวงอาทิตย์ตั้งฉากครั้งที่ 1 ของปี 2563
ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร และหอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ
จังหวัด |
ครั้งที่ 1 | |
วันที่ |
เวลา |
|
อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อ.แม่ริม จ.เชียงใหม่ |
14 พฤษภาคม |
12.21 น. |
หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา นครราชสีมา |
30 เมษายน |
12.09 น. |
หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา ฉะเชิงเทรา | 26 เมษายน |
12.13 น. |
หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา สงขลา | 7 เมษายน |
12.20 น. |
ตั้งฉากแบบนี้ โลกก็รับพลังงานจากดวงอาทิตย์เต็ม ๆ สิ ถ้าแบบนี้วันนั้นจะถือเป็นวันที่ร้อนที่สุดด้วยไหม ?
ปรากฏการณ์ดังกล่าวทำให้พื้นโลกได้รับพลังงานจากดวงอาทิตย์อย่างเต็มที่จริง อย่างไรก็ตาม อุณหภูมิในวันดังกล่าวจะสูงสุดหรือไม่นั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น ปริมาณฝน เมฆ อิทธิพลจากมรสุม ความร้อนสะสมในบรรยากาศ ฯลฯ ก็ล้วนอาจส่งผลต่ออุณหภูมิได้ วันดังกล่าวจึงอาจไม่ใช่วันที่ร้อนที่สุด
ปรากฏการณ์นี้ถือเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่น่าติดตาม แถมยังสังเกตดูได้ง่ายจาก “เงา” ของเราอีกด้วย ยังไงก็อย่าลืมลองสังเกตและบันทึกภาพไว้เป็นที่ระลึกกันนะครับ
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส