New Normal หรือ ความปรกติใหม่ ที่ราชบัณฑิตยสถานบัญญัติเป็นศัพท์ภาษาไทย แต่ถ้าใช้คำที่เข้าใจกันง่าย ๆ กว่านั้นก็คือ รูปแบบวิถีชีวิตใหม่ในสังคมหลังวิกฤตการณ์ โควิด-19 ที่เรา ๆ ท่าน ๆ ก็ได้พบเห็นกันไปบ้างแล้ว ทั้งรูปแบบการต่อคิวใช้บริการต่าง ๆ รูปแบบการจัดโต๊ะในร้านอาหาร ระเบียบปฏิบัติเมื่อเข้าใช้บริการในห้างสรรพสินค้า รวมถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ อีกหลายอย่างที่ได้รับการออกแบบใหม่ให้สอดคล้องกับรูปแบบการดำเนินชีวิตใหม่นี้ บางกฏเกณฑ์อาจจะถูกนำมาบังคับใช้ชั่วคราวในช่วงนี้ แต่บางกฏเกณฑ์ก็อาจจะใช้เป็นการถาวรนับจากนี้ไป หลายคนอาจจะไม่ยินดีนักกับการต้องปรับตัวเข้ากับรูปแบบวิถีชีวิตใหม่ แต่ทุกอย่างก็อยู่ภายใต้ภาวะที่เข้าใจได้ว่าการปรับเปลี่ยนนั้นก็เพื่อสวัสดิภาพของทุกคนที่อยู่ภายใต้สังคมเดียวกัน

9 สมมติฐาน New Normal ที่หยิบมาเล่าต่อในบทความนี้ ถอดความมาจากบทวิเคราะห์ของ เบอร์นาร์ด มาร์ เขียนไว้ในเว็บไซต์ของ Forbes เบอร์นาร์ด มาร์ เป็นนักพูด นักอนาคตวิทยา และผู้ให้คำปรึกษากลยุทธ์ทางด้านเทคโนโลยีและธุรกิจให้กับรัฐบาลสหรัฐอเมริกา

1.สังคมที่ไร้การสัมผัสโดยตรงและไร้ปฏิสัมพันธ์

โลกเราเพิ่งจะได้ต้อนรับเทคโนโลยีสัมผัสหน้าจอมาเมื่อ 10 ปีที่แล้วนี่เอง เริ่มจากสมาร์ตโฟน แล้วก็ขยายไปผลิตภัณฑ์อื่นๆ อีกหลากหลายที่ใช้ระบบป้อนคำสั่งด้วยการสัมผัสหน้าจอ 10ปีต่อมา โลกเหมือนจะกลับตาลปัตร ผลจาก โควิด-19 ทำให้ผู้คนเริ่มหลีกเลี่ยงการสัมผัสไปแล้ว แม้แต่หน้าจอหรือปุ่มต่าง ๆ เพราะอาจจะเป็นช่องทางการติดต่อเชื้อโรคได้

ในวิถี new normal นั้น เราจะเผชิญรูปแบบการดำเนินชีวิตที่มีการสัมผัสหน้าจอต่าง ๆ น้อยลงอย่างแน่นอน แต่จะเปลี่ยนไปใช้การสั่งงานด้วยเสียงมากขึ้น หรือมีการนำระบบ machine vision มาใช้ (ระบบตรวจสอบและวิเคราะห์อัตโนมัติ)

ในปัจจุบันระบบ Machine Vision ก็เริ่มมีการกันใช้บ้างแล้วในองค์กรและหน่วยงานขนาดใหญ่ หรือบางร้านค้า ที่ให้ระบบจดจำหน้าตาและท่วงท่าการเคลื่อนไหวของแต่ละบุคคล คอยบันทึกการเข้าออกของบุคลากรโดยไม่ต้องมีการแสกนนิ้ว แสกนบัตรเหมือนแต่ก่อน เราอาจจะได้เห็น Machine Vision ใช้กันแพร่หลายมากขึ้นจากนี้ไป

ที่จริงแล้ว เราเริ่มเห็นรูปแบบการติดต่อกันโดยไม่ต้องมีการสัมผัสมาระยะหนึ่งแล้ว ก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 ในเรื่องของระบบการชำระค่าสินค้าและบริการผ่านสมาร์ตโฟน แต่เมื่อผู้คนต้องการดำเนินชีวิตที่ปราศจากการแตะต้องสัมผัสพื้นผิวมากขึ้น ยิ่งเป็นกระแสความต้องการของตลาดให้ผู้ผลิตเร่งพัฒนาคิดค้นรูปแบบการซื้อขายสินค้าและบริการโดยปราศจากการสัมผัสให้สะดวกและปลอดภัยมากขึ้นในอนาคตอันใกล้

2.ติดต่อสื่อสารผ่านโซเชียล

Covid-19 ทำให้มนุษย์โลกส่วนใหญ่ต่างได้สัมผัสประสบการณ์ Work From Home เหมือนกับว่ามนุษย์ถูกตีกรอบให้ต้องพึ่งระบบดิจิทัลในการดำเนินชีวิตมากขึ้น ไม่ว่าเรื่องเรียน หรือเรื่องงาน และอีกหลายจุดประสงค์ในการติดต่อสื่อสารทางไกลโดยที่ไม่ต้องก้าวออกจากบ้าน แล้วเราก็ได้เรียนรู้ด้วยตัวเองแล้วว่าเราต่างก็สามารถดำเนินชีวิตต่อไปได้โดยที่ไม่ต้องเดินทาง ได้เห็นว่าการประชุมผ่านวิดีโอคอล ก็ได้ประสิทธิภาพที่ทัดเทียมกัน ซอฟต์แวร์หลาย ๆ ตัวก็เร่งพัฒนามาเพื่อตอบสนองการทำงานออนไลน์ การประชุมออนไลน์ให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดในช่วงนี้ อีกรูปแบบการสื่อสารที่ต้องเร่งพัฒนาให้ได้ประสิทธิภาพมากที่สุดนับจากนี้ก็คือการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์

3.เทคโนโลยีการเฝ้าระวัง


เราได้เห็นการบริหารจัดการข้อมูลในระดับ Big Data ในช่วงที่ไวรัสแพร่ระบาด ด้วยการรายงานความคืบหน้าของสภาวะการแพร่ระบาดแบบเรียลไทม์ จำนวนผู้ติดเชื้อ จำนวนผู้เสียชีวิต ทั้้งจำนวนรวมทั่วโลก และจำนวนในแต่ละประเทศ ทำให้เราต่างได้เห็นผลดีของ internet of things และ Big data ที่ยิ่งต้องเร่งพัฒนาให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ พร้อมรับมือถ้าหากต้องเจอวิกฤตการณ์เช่นนี้อีก จะทำให้ประเทศต่าง ๆ และทั้งโลกอยู่ในสถานะพร้อมเฝ้าระวัง เพื่อที่จะสามารถเตือนภัยได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น

เมื่อรู้เร็ว เราก็จะสามารถติดตามและรายงานผลได้เร็ว ถ้าในอนาคตเราเจอผู้ติดเชื้อรายใหมที่เริ่มแสดงอาการอีก เราก็ได้ใช้ระบบ GPS ในการเฝ้าติดตามบุคคลนั้น ๆ ว่าไปที่ไหนมาบ้าง ได้ติดต่อสื่อสารกับใครบ้าง ยิ่งเทคโนโลยีการเฝ้าระวังและติดตามนี้ทำงานได้มีประสิทธิภาพได้เท่าไหร่ก็จะยิ่งจำกัดวงการแพร่ระบาดในอนาคตได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

4.ใช้ AI มาช่วยพัฒนาวัคซีน

ถ้าหน่วยงานทางการแพทย์ค้นพบวัคซีนรักษา Covid-19 ได้เร็วเท่าไหร่ เราก็จะยิ่งควบคุมการแพร่ระบาดได้เร็วเท่านั้น กลไกสำคัญที่จะนำมาใช้ในการคิดค้นยารักษานี้ก็คือระบบ AI เพราะจะช่วยลัดขั้นตอนในการวิจัยค้นคว้าให้เร็วยิ่งขึ้น ข้อมูลต่าง ๆ ในปัจจุบันก็เป็นประโยชน์อย่างมากที่จะป้อนเข้า AI ให้เร่งค้นพบวัคซีนได้ในเร็ววัน

5.การรักษาทางไกล

Telemedicine คือ การนําเทคโนโลยีที่ช่วยให้ผู้ป่วยและบุคลากร ทางการแพทย์สามารถพูดคุยตอบโต้กันได้แบบ Real-time เช่นเดียวกับการสื่อสารผ่านระบบ video conference ที่คู่สนทนาสามารถมองเห็นหน้าและสนทนากันได้ทั้ง 2 ฝ่าย ได้อย่างไร้ข้อจำกัดในเรื่องเวลาและสถานที่

ช่วงก่อนวิกฤตการณ์ Covid-19 บางโรงพยาบาลเริ่มประยุกต์ใช้รูปแบบการรักษาทางไกลกันบ้างแล้ว เพื่อลดปริมาณผู้คนและพาหนะที่เข้ามาที่โรงพยาบาล และลดการทำงานของแพทย์และบุคลากร แพทย์สามารถถามไถ่อาการคนไข้และให้คำแนะนำกับคนไข้ได้ผ่านวิดีโอคอล ในกรณีคนไข้ที่ไม่มีอาการหนักและไม่ต้องเข้ารับการรักษาแบบสัมผัสตัว เมื่อโลกเราเผชิญกับวิกฤตการณ์ Covid-19 ยิ่งทำให้สถาบันการแพทย์ยิ่งเล็งเห็นประโยชน์ของ Telemedicine มากขึ้น

6.ยุคทองของชอปปิ้งออนไลน์

ใช่ที่ว่าเราเข้าสู่ยุคชอปปิ้งออนไลน์มาต้้งแต่ก่อนช่วงวิกฤตการณ์ Covid-19 แล้ว หลาย ๆ ธุรกิจต่างก็ตื่นตัวกับช่องทางขายแบบออนไลน์กันแล้ว แต่เมื่อ Covid-19 มาถึง ยิ่งทำให้การซื้อขายออนไลน์กลายเป็นช่องทางหลัก กลุ่มธุรกิจไหนที่ยังไม่ได้เริ่มต้นในช่องทางออนไลน์ก็ต้องประสบปัญหาหนัก กลุ่มไหนที่พอมีช่องทางอยู่แล้วบ้างก็ต้องยิ่งใช้ประโยชน์จากช่องทางนี้ให้สัมฤทธิ์ผลมากขึ้น

และเมื่อหลังวิกฤตการณ์ covid-19 ผ่านพ้นไป หลากหลายธุรกิจก็เล็งเห็นความสำคัญของช่องทางการขายผ่านระบบออนไลน์ แล้วยิ่งต้องเสริมความแข็งแกร่งของช่องทางนี้ ต้องหันมาศึกษาพัฒนาในระบบโลจิสติกส์และการจัดส่งสินค้าให้มากขึ้นเพื่อตอบรับความต้องการของตลาดที่จะขยายตัวในอนาคต

7.หุ่นยนต์จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

นั่นก็เพราะหุ่นยนต์ไม่ติดเชื้อไวรัส และสามารถใช้ทำงานได้ในภาวะและพื้นที่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ในสายงานการผลิตที่ใช้หุ่นยนต์ก็ไม่ประสบผลกระทบในภาวะวิกฤตนี้ ทำให้บรรดาโรงงานต่าง ๆ ยิ่งต้องตระหนักถึงบทบาทความสำคัญของหุ่นยนต์ในสายงานการผลิตในช่วงหลังภาวะวิกฤตนี้มากขึ้น

8.การจัดอีเวนต์ในรูปแบบดิจิทัลจะมีมากขึ้น

ออร์แกไนเซอร์จะต้องเปลี่ยนรูปแบบการจัดงานจากเดิมที่ผู้ชมต้องเข้าเยี่ยมชมงานด้วยตัวเอง เปลี่ยนมาเป็นการเข้าชมผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งแน่นอนว่ามันมีทั้งข้อดีและข้อเสีย ในเรื่องนี้ เบอร์นาร์ด มาร์ ได้เล่าผ่านประสบการณ์ของเขาเองที่ได้เไปเข้าร่วมบรรยายในหัวข้อ ‘AI in education’ที่ลอนดอน เมื่อเดือนเมษายน ในงานนี้เปิดให้ผู้สนใจเข้าร่วมรับชมผ่านระบบออนไลน์ งานดำเนินไปอย่างราบรื่นดี ที่จริงแล้วมีผู้รับชมมากขึ้นกว่าเดิมด้วยซ้ำ เพราะผู้จัดไม่ต้องกังวลถึงพื้นที่ที่จะต้องรองรับผู้ชมจำนวนมาก แล้วยังสามารถต้อนรับผู้ชมได้จากทั่วทุกมุมโลกอีกด้วย

เบอร์นาร์ด ยังไม่ฟันธงว่ารูปแบบการจัดงานต่าง ๆ จะเปลี่ยนไปในรูปแบบดิจิทัลโดยสิ้นเชิงหลังจากวิกฤตการณ์ Covid-19 แต่เขาเชื่อว่าออร์แกไนเซอร์จะต้องหาทางพัฒนารูปแบบการจัดงานผ่านระบบดิจิทัลให้ผู้เข้าร่วมชมได้สัมผัสบรรยากาศได้ใกล้เคียงกับการมาเข้าชมด้วยตัวเองให้ได้มากที่สุด เบอร์นาร์ดคาดว่าอีเวนต์ในอนาคตน่าจะออกมาในรูปแบบผสมผสาน ผู้ชมสามารถเลือกเข้าชมได้ทั้งการมาด้วยตัวเองและเข้าการเข้าชมแบบช่องทางออนไลน์

9.การรับชมกีฬาออนไลน์

ผู้จัดการแข่งขันกีฬาต่างเผชิญภาวะยากลำบากกันถ้วนหน้า เมื่อโปรแกรมการแข่งขันทั้งเล็กทั้งใหญ่ต่างต้องหยุดชะงักหรือยกเลิกกันหมดสิ้น แฟน ๆ ของบรรดาทีมโปรดก็ต้องอดชมนักกีฬาขวัญใจของตัวเองออกมาวาดลวดลายกันอีกยาวนาน นี่คือช่วงที่ต้องหันมาให้ความสนใจกับรูปแบบชมกีฬากันแบบออนไลน์ กันอย่างจริงจัง ที่มีเริ่มนำเสนอในรูปแบบออนไลน์กันแล้ว ก็อย่างเช่นการแข่งรถ F1 ซึ่งมันก็อาจไม่ได้ให้อารมณ์ความรู้สึกเหมือนกับการได้ชมข้างขอบสนามในวิถีเดิม ๆ แต่ก็นับว่าเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ผู้ชมสามารถรับชมการแข่งขันสุดโปรดอยู่ที่บ้านได้ท่ามกลางภาวะวิกฤตเช่นนี้

สำหรับผู้จัดแล้ว การถ่ายทอดภาพผ่านระบบออนไลน์ยังสะดวกง่ายดายกว่าการต้อนรับผู้ชมในสนามจริงอีกด้วย เบอร์นาด ก็มองอนาคตของการแข่งขันกีฬาในอนาคตว่าน่าจะไปในทิศทางเดียวกับการจัดอีเวนต์ทั่วไป ที่ผู้จัดจะน่าจะต้องจัดการแข่งขันในรูปแบบผสม ผู้ชมสามารถเลือกชมออนไลน์หรือมาดูสดที่สนามก็ได้ ผู้จัดเองก็ต้องหาทางเติมเต็มความรู้สึกผู้ชมผ่านระบบออนไลน์ให้ได้ความรู้สึกใกล้เคียงกับการเข้าชมในสนามจริงให้ได้มากที่สุด

การเข้ามาของ Covid-19 นั้นล้มล้างรูปแบบการดำเนินชีวิตเดิม ๆ ของเราหมดสิ้น แต่ในขณะเดียวกันมันก็สอนให้เรารู้จักปรับเปลี่ยนตัวเอง สอนให้เราเรียนรู้นวัตกรรมใหม่ ๆ ที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิตและการทำงาน และทำให้เราทำใจยอมรับว่าในอนาคตอาจจะมีไวรัสตัวใหม่ ๆ ถือกำเนิดขึ้นมาอีกก็ได้ เทคโนโลยีใหม่ ๆ จึงจำเป็นต่อการดำรงอยู่ของสังคมมนุษย์มากยิ่งขึ้น

อ้างอิง