น่าสนใจว่าความเคลื่อนไหวใหม่ครั้งนี้ของสหรัฐฯ หรืออย่างน้อยก็จากคณะทำงานของทรัมป์ ที่เริ่มมีการพูดคุยกันในวงสนทนาระดับสูงว่า สหรัฐฯ ควรกลับมาทำการทดสอบขีปนาวุธนิวเคลียร์อีกครั้ง หลังจากหยุดพัฒนานิวเคลียร์ไปตั้งแต่เดือนกันยายน ปี 1992 หรือเมื่อ 28 ปีก่อน

ร่องรอยการทดสอบนิวเคลียร์ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1992 ที่รัฐเนลาดา ปรากฏเห็นหลุมชนาดใหญ่หลายกิโลเมตร
ร่องรอยการทดสอบนิวเคลียร์ครั้งสุดท้ายเมื่อปี 1992 ที่รัฐเนลาดา ปรากฏเห็นหลุมชนาดใหญ่หลายกิโลเมตร

The Washington Post รายงานว่าในการประชุมกันของเจ้าหน้าที่ระดับสูงของคณะทำงานด้านความมั่นคงของสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคมที่ผ่านมา ได้มีการหยิบยกประเด็นเรื่องทดสอบขีปนาวุธกลับมาอีกครั้ง โดยอ้างว่าเพื่อต้องการปรามและตอบโต้มหาอำนาจขั้วตรงข้าม ทั้งนี้ก่อนหน้านี้สหรัฐมีความหวาดระแวงเรื่องการแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของมหาอำนาจฝั่งตะวันออกอย่างรัสเซียและจีนมาระยะหนึ่งแล้ว ซึ่งทางการสหรัฐเชื่อว่ามีการลอบดำเนินการอยู่จริงตั้งแต่หลายปีก่อน แต่ตลอดมาสหรัฐก็ไม่เคยแสดงหลักฐานเชิงประจักษ์ประกอบข้อกล่าวหาดังกล่าวออกมาสู่สายตาชาวโลกแต่อย่างใด

ภาพการทดสอบนิวเคลียร์ที่รัฐเนวาดา เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 1951
ภาพการทดสอบนิวเคลียร์ที่รัฐเนวาดา เมื่อเดือนพฤศจิกายน ปี 1951

และก่อนที่จะถือเป็นจริงเป็นจัง ต้องแจ้งว่าจากรายงานข่าวดังกล่าวก็ระบุว่าแนวคิดให้กลับมาทดลองนิวเคลียร์นั้นเป็นเพียงการพูดคุยกันในเจ้าหน้าที่ระดับสูง ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องนี้อย่างชัดเจนออกมา ทั้งยังไม่ใช่ข่าวครั้งแรกที่มีการยกประเด้นนี้มาพูดเพราะราวเดือนก่อนก็มีการเสนอเช่นนี้เช่นกัน แต่อยู่ในวงที่ไม่ใช่เจ้าหน้าระดับสูงเช่นนี้ และเอาเข้าจริงรายละเอียดกว่าจะผ่านสภาเห้นชอบหากยื่นข้อเสนอจริงจนถึงกระบวนการมีผลบังคับใช้ก็ยากเย็นและต้องผ่านการคัดค้านอีกมากแน่นอน แต่ถึงกระนั้นการเคลื่อนไหวดังกล่าวก็น่าสนใจไม่น้อยเพราะไม่มีการแตะในประเด็นนี้มานานกว่า 28 ปีแล้ว จนต้องดูว่าอะไรคือเหตุผลสำคัญ

สหรัฐฯ vs รัสเซีย

ย้อนกลับไปเมื่อช่วงเวลานี้ราว 1 ปีก่อน ประธานาธิบดีทรัมป์สั่งถอนตัวจากสนธิสัญญากำลังนิวเคลียร์พิสัยกลาง (INF) กับรัสเซียที่ดำเนินมาตั้งแต่ปี 1987 ลง โดยมีผลในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2019 ด้วยข้อกล่าวหาว่ารัสเซียยังคงแอบพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์อย่างสม่ำเสมอ ด้านรัสเซียก็ได้ถอนตัวจากสนธิสัญญาดังเป็นการตอบโต้สหรัฐฯ ในอีก 1 วันถัดมาเช่นกัน

ในวันที่ 29 พฤษภาคม 2019 สำนักข่าว Reuters ได้เผยแพร่ข่าวว่าสหรัฐฯ ด้เปิดศึกอีกครั้ง เมื่อ พล.ท.โรเบิร์ต พี. แอชลีย์ ผู้อำนวยการหน่วยงานข่าวกรองกลาโหมสหรัฐฯ (DIA) ได้แสดงความเชื่อมั่นว่า รัสเซียกำลังละเมิดสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (CTBT) ที่ทำข้อตกลงกับนานาชาติไว้ด้วย ซึ่งสนธิสัญญานี้ได้ก่อตั้งขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 1990 และรัสเซียได้ลงนามเข้าร่วมในปี 2000 โดยพล.ท.แอชลีย์ได้กล่าวหาว่ารัสเซียแอบทดลองอาวุธนิวเคลียร์พลังทำลายล้างต่ำ (Low-Yield Test) ที่อาจตรวจพบได้ยากอยู่ด้วย

ในเวลาต่อมา วลาดิเมียร์ ชามานอฟ เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัสเซียก็ออกมาตอบโต้ว่า การทดสอบนิวเคลียร์ไม่ว่าในระดับใดไม่สามารถกระทำเป็นความลับได้อย่างที่สหรัฐกล่าวอ้าง

และเมื่อนักข่าวไปสอบถาม ลาสซินา เซอร์โบ ผู้อำนวยการองค์กรที่กำกับดูแลสนธิสัญญาดังกล่าว เขาก็ได้ตอบว่า “มันไม่ได้หมายความว่ารัสเซียได้ทำการทดสอบ หากแต่รัสเซียมีศักยภาพที่จะทำการทดสอบได้ต่างหาก” และเมื่อถามต่อไปว่าเครื่องตรวจจับการทดสอบนิวเคลียร์ที่เซอร์โบดูแลทั่วโลกมีปฏิกิริยาเตือนเรื่องการทดสอบครั้งนี้หรือไม่ เขาจึงตอบว่า “ผมเชื่อว่าการทดสอบนิวเคลียร์เพื่อการทหารไม่มีทางที่จะหลบการตรวจจับได้ และตอนนี้ก็ไม่มีสัญญาณใดแสดงว่ามันมีการทดสอบ แต่เราก็จะต้องหาหลักฐานอื่นประกอบเพื่อยืนยันต่อไป”

ประธานาธิบดีปูตินในการประชุมร่วมกับนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์รุ่นใหม่ของรัสเซีย เมื่อปี 2014 (ภาพโดย kremlin.ru)
ประธานาธิบดีปูตินในการประชุมร่วมกับนักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์รุ่นใหม่ของรัสเซีย เมื่อปี 2014 (ภาพโดย kremlin.ru)

สรุปคือ ถ้าเชื่อหลักฐานเชิงประจักษ์ก็ต้องเชื่อว่ารัสเซียไม่มีการทดสอบ แต่ถ้าไว้ใจความน่าเชื่อถือด้านข้อมูลข่าวกรองของสหรัฐฯ ก็ต้องเชื่อข้อกล่าวหาของสหรัฐอเมริกา

สหรัฐ vs จีน

มาด้านจีนบ้าง เมื่อวันที่ 15 เมษายนที่ผ่านมาสำนักข่าว The Wall Street Journal ได้รายงานว่าทางกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ เชื่อว่าจีนแอบทดลองนิวเคลียร์พลังทำลายล้างต่ำในฐานใต้ดินที่ระดับความลึกซึ่งตรวจสอบยากอยู่ ทั้งนี้ในรอบนี้สหรัฐฯ ได้แสดงหลักฐานมากขึ้นกว่าครั้งรัสเซียอีกนิด ถึงแม้จะไม่มีหลักฐานเรื่องนิวเคลียร์อย่างชัดเจน แต่ก็อาศัยการอนุมานจากกิจกรรมโดยรอบสถานที่ทำการทดสอบนิวเคลียร์โหล่วปู่โพ เช่นการขุดดิน การตัดสัญญาณข้อมูลที่เชื่อมกับสถานีตรวจสอบนานาชาติ ตลอดจนมีกิจกรรมอื่น ๆ ที่คล้ายขั้นตอนในการพัฒนานิวเคลียร์ และขู่ว่านี่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ – จีนย่ำแย่ลง

ทั้งนี้จีนและสหรัฐฯ ต่างลงนามในสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ (CTBT) ที่ได้ข้อสรุปในปี 1996 ทว่าไม่มีประเทศใดที่ให้สัตยาบัน ส่งผลให้ไม่เกิดการบังคับใช้จริง มีเพียงว่าจีนสัญญาจะทำตามเงื่อนไขในสนธิสัญญาดังกล่าว แต่ไม่ยอมรับการบังคับใช้ที่อนุญาตให้มีการตรวจสอบพื้นที่ต้องสงสัย ด้านสหรัฐฯ ก็เพียงเข้าร่วมตรวจสอบการห้ามทดลองนิวเคลียร์เท่านั้น

มาดูความเห็นจากผู้เชี่ยวชาญด้านนิวเคลียร์ของสถาบันการศึกษานานาชาติมิดเดิลเบอรี่กันบ้าง เจฟฟรี ลูอิส ได้ระบุกับทางสำนักข่าว The Guardian ว่าหลักฐานที่ออกมาเชื่อมโยงว่าอาจจะมีการทดสอบนิวเคลียร์พลังทำลายล้างต่ำ หรือไม่ก็การทดลองนิวเคลียร์ใต้ระดับวิกฤต (Sub-critical Test เป็นการระเบิดที่ไม่ถึงระดับการแตกตัวเป็นปฏิกิริยานิวเคลียร์) ซึ่งจะว่าไปแล้วการทดสอบใต้ระดับวิกฤตดังกล่าวยังไม่ขัดกับสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ โดยการทดลองทั้ง 2 แบบนั้นไม่สามารถตรวจความแตกต่างกันได้ด้วยดาวเทียมหรือเครื่องตรวจวัดแผ่นดินไหวที่ใช้ตรวจในปัจจุบัน และเอาเข้าจริงทั้ง สหรัฐฯ จีน และรัสเซีย ต่างก็มีการทดสอบนิวเคลียร์ใต้ระดับวิกฤตด้วยกันทั้งสิ้น การกล่าวหาว่ามีการทดสอบนิวเคลียร์พลังงานทำลายล้างต่ำซึ่งเน้นไปที่การสร้างอาวุธจึงเป็นคำกล่าวหาที่เกินเลยไปมาก

และถ้าถาม ขบวนการต่อต้านนิวเคลียร์เพื่อสันติภาพ เกี่ยวกับการทดลองดังกล่าว ก็จะได้ความเห็นว่า แม้แต่การทดลองนิวเคลียร์ใต้ระดับวิกฤตก็ยังเป็นการเลี่ยงบาลีที่ทำลายจิตวิญญาณของสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์อยู่ดี

และสำหรับข้อสงสัยที่ว่าจีนตัดสัญญาณจากการตรวจสอบของสถานีตรวจวัดนานาชาตินั้น เจ้าหน้าที่ขององค์การดูแลสนธิสัญญาว่าด้วยการห้ามทดลองนิวเคลียร์โดยสมบูรณ์ ได้เผยว่าตั้งแต่กันยายน 2019 จนถึงตอนนี้ สัญญาณที่เชื่อมต่อจากจีนทั้ง 5 เส้นไม่เคยมีการตัดขาดแต่อย่างใด[/su_spoiler]

ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียเยือนจีนอย่างเป็นทางการ และเข้าพบประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน เมื่อปี 2018 สร้างภาพโลก 2 ขั้วและสงครามเย็นแบบอ่อน ๆ ให้ชัดเจนขึ้น (ภาพโดย kremlin.ru)
ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียเยือนจีนอย่างเป็นทางการ และเข้าพบประธานาธิบดีสีจิ้นผิงของจีน เมื่อปี 2018 สร้างภาพโลก 2 ขั้วและสงครามเย็นแบบอ่อน ๆ ให้ชัดเจนขึ้น (ภาพโดย kremlin.ru)

สรุปว่า สำหรับข้อกล่าวหาต่อจีนนั้น มองได้ว่าสหรัฐมีความพยายามดึงจีนมาร่วมวงปัญหาเดียวกับที่มีกับรัสเซีย เพื่อให้มาทำข้อตกลงที่มีสหรัฐเป็นศูนย์กลาง โดยทำการบ้านในข้อกล่าวหาเพิ่มขึ้น แม้จะยังโดนหักล้างในข้อสำคัญ ๆ ได้ก็ตาม

เหตุผลในการยกประเด็นครั้งนี้ เพื่อขู่?

เมื่อหลักฐานต่าง ๆ ที่สหรัฐฯ กล่าวอ้างในรอบหลังจะถูกหักล้างไป แต่ก็ยากที่จะเปลี่ยนความคิดของทางการสหรัฐฯ เพราะถ้ามองอย่างร้ายสุดเพื่อบริหารความเสี่ยง ตราบที่มีศักยภาพที่จะทำได้ก็คือความเสี่ยงที่จะมีภัยคุกคามแล้ว (ถ้าจำกรณีโจมตีอิรักได้นั่นก็เริ่มจากเพียงที่สหรัฐฯ เชื่อว่าอิรักมีศักยภาพพอจะทำอาวุธชีวภาพได้ด้วย) และจากข้อสงสัยต่อจีนในรอบหลังนี้ก็เริ่มมีคำแนะนำให้สหรัฐฯ ถอนตัวจากสนธิสัญญาดังกล่าว เพื่อเปิดทางในการทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ของตนเองเมื่อเดือนก่อนเช่นกัน ซึ่งนำมาสู่การหารือในเจ้าหน้าที่ระดับสูงตามที่วอชิงตันโพสต์รายงานข้างต้นในเดือนนี้

และเหตุผลสำคัญในการเคลื่อนไหวครั้งนี้ได้รับการกล่าวอ้างจาก เจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐฯ ว่าที่ต้องทดลองนิวเคลียร์ก็เพื่อกดดันให้ทั้งจีนและรัสเซียมาเจรจาข้อตกลงเกี่ยวกับนิวเคลียร์ที่สหรัฐฯ ล้มไปใหม่ ให้มีเงื่อนไขเข้มข้นขึ้นและมีผลบังคับใช้ตามที่สหรัฐฯ ต้องการ ซึ่งนักวิเคราะห์ต่างมองว่าเป็นหมากตาที่สร้างความเสี่ยงมากกว่าความสร้างสรรค์อยู่พอสมควร

และนี่ก็ไม่ใช่การกดดันแบบส่งสัญญาณขู่ด้วยลมปากเพียงอย่างเดียว เพราะในขณะที่ประเทศอื่นอาจทำการทดลองอย่างลับ ๆ ในสายตาสหรัฐฯ แต่สหรัฐฯ ก็เริ่มเดินหน้าทำให้ตลาดนิวเคลียร์ระอุแบบเป็นรูปธรรม โดยเมื่อต้นปีที่ผ่านมา The Washington Post ก็ได้รายงานว่าประธานาธิบดีทรัมป์อนุมัติให้ติดตั้งอาวุธหัวรบนิวเคลียร์พลังทำลายล้างต่ำ W76-2 ในเรือดำน้ำเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่สมัยรัฐบาล จอร์จ บุช ผู้พ่อ โดยอ้างว่าเพื่อคานอำนาจและลดช่องว่างทางการทหารกับรัสเซีย

มาดูข้อมูลว่าประเทศไหนมีอาวุธนิวเคลียร์อยู่เท่าใด จากเว็บไซต์ Arms Control Association ได้รายงานล่าสุดเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 2019 ถึงสัดส่วนการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของแต่ละประเทศในโลก มีรายละเอียดดังนี้

  • รัสเซีย มีหัวรบนิวเคลียร์ 6,490 ลูก
  • สหรัฐอเมริกา มีหัวรบนิวเคลียร์ 6,185 ลูก
  • ฝรั่งเศส มีหัวรบนิวเคลียร์ 300 ลูก
  • จีน มีหัวรบนิวเคลียร์ 290 ลูก
  • อังกฤษ มีหัวรบนิวเคลียร์ 200 ลูก
  • ปากีสถาน มีหัวรบนิวเคลียร์ 160 ลูก
  • อินเดีย มีหัวรบนิวเคลียร์ 140 ลูก
  • อิสราเอล มีหัวรบนิวเคลียร์ 90 ลูก
  • เกาหลีเหนือ มีหัวรบนิวเคลียร์ 30 ลูก
2019 Estimated Global Nuclear Warhead Inventories

น่าจะช่วยให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าช่องว่างทางการทหารระหว่างสหรัฐฯ และพันธมิตร กับ คู่พันธมิตรจีน-รัสเซียนั้นเป็นอย่างไร

วิเคราะห์เพิ่มเติม

ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในการหาเสียงเมื่อปี 2016 (ภาพโดย Gage Skidmore)
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ในการหาเสียงเมื่อปี 2016 (ภาพโดย Gage Skidmore)

เหตุผลของสหรัฐฯ ในการเพิ่มความตึงเครียดครั้งนี้จึงอาจมองได้ว่า

  • เพื่อปรามประเทศต่าง ๆ ว่าสหรัฐฯ พร้อมจะเล่นไม้แข็งเช่นกันในการเข้มงวดเรื่องนิวเคลียร์ หลังจากเน้นการเจรจาประนีประนอมมาหลายสิบปี ซึ่งการขู่ครั้งหลังสุดก็ทำให้เกิดภาพทรัมป์กับคิมจองอึนมาจับมือกันได้สำเร็จเป็นผลงานสำคัญ ซึ่งถ้านี่เป็นเพียงการขู่ที่บรรลุผลจริง ๆ ก็จะเป็นมุมมองแง่บวกที่สุดว่าสหรัฐฯ ต้องการพาโลกสู่สันติสุขที่ทุกคนตรวจสอบกันเองได้เต็มที่ด้วยความบริสุทธิ์ใจ เพราะตราบใดที่รัฐอื่นไม่ยอมเปิดโปร่งใสอย่างที่สหรัฐฯ พอใจ สหรัฐฯ ก็ยังจะมีความเชื่อว่าทุกรัฐแอบซ่อนอาวุธร้ายแรงอยู่ร่ำไปอยู่ดี
  • เพื่อเตะตัดขาจีนกับรัสเซีย ที่ช่วงหลังหันมารุกเกมการค้าได้อย่างมีนัยสำคัญ และหาช่องในการพัฒนาอาวุธเสริมความมั่นคงความแข็งแกร่งอย่างเป็นรูปธรรม เพิ่มความได้เปรียบในสงครามเย็นอ่อน ๆ ที่ดำเนินผ่านสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ซึ่งในสายตาคนนอกก็คงมองว่าสหรัฐฯ ดูเพลี่ยงพล้ำค่ายคอมมิวนิสต์อยู่เล็กน้อย อย่างน้อยที่สุดก็ช่วยเชิงภาพจำให้ประเทศอื่นที่ใจเริ่มเอียงไปหาจีนได้เกรงใจว่าสหรัฐฯ ยังเป็นคนสำคัญของโลกอยู่
  • และผลลัพธ์ทางอ้อมที่สำคัญที่สุด คือ เพื่อช่วยในเรื่องความนิยมในตัวทรัมป์ที่เสียหายอย่างหนักในช่วงโควิด-19 ที่ผ่านมา ด้วยกระแสสงครามและความไม่แน่นอนของเวทีโลกขึ้นในหัวใจของอเมริกันชน เช่นเดียวกับกลยุทธ์ที่ทีมงาน จอร์จ ดับเบิลยู. บุช เคยประสบความสำเร็จในการเลือกตั้งทั้ง 2 สมัยมาแล้ว เพราะในภาวะสงครามภาพลักษณ์แบบอนุรักษ์นิยมของพรรครีพับลิกันมักโดนใจอเมริกันชนมากกว่าภาพประนีประนอมแบบปัญญาชนของพรรคเดโมแครตด้วย และแน่นอนว่าในตอนนี้ หากไม่ทำอะไรเลย การเลือกตั้งใหญ่ของอเมริกาช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้ก็คงเป็นงานหนักทีเดียวสำหรับประธานาธิบดีทรัมป์ที่จะได้ต่ออายุอีกสมัย นั่นจึงเป็นเหตุผลสำคัญที่สุดว่าทำไมถึงต้องเร่งเครื่องยกประเด็นใหญ่มาพูดในช่วงเวลานี้ ทั้งที่จริงก็ไม่ได้มีหลักฐานเชิงประจักษ์ที่น่ากังวลขนาดนั้นด้วย

มองแง่ดี โลกอาจสงบสุขด้วยการคานอำนาจในรูปสงครามเย็นขนาดย่อมไปได้อีกสักพัก โดยแลกกับการชะลอการพัฒนาความร่วมมือกันในด้านต่าง ๆ ของผู้นำโลก มองแง่ร้าย เกมสงครามเย็นอ่อน ๆ ที่สุ่มเสี่ยงเช่นนี้เราจะไว้ใจคนอย่างทรัมป์ในการกุมเกมได้แค่ไหน และชาวโลกต้องอยู่ในภาวะเดาอะไรยากไปอีกนานเท่าไร อีกทั้งสงครามการค้าและสงครามเทคโนโลยีจะได้รับการคลี่คลายลงเมื่อใดนั้น ข่าวดีอย่างหนึ่งคือ ปลายปีนี้ก็คงรู้กัน

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส