มีรายงานล่าสุดของนักวิทยาศาสตร์เปิดเผยว่า คาบสมุทรแอนตาร์กติกที่เผชิญกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นอย่างรวดเร็วมากในช่วงปลายศตวรรษที่ 21 ที่ผ่านมา ปรากฎผลร้ายให้เห็นเด่นชัดบริเวณขั้วโลกใต้ นั่นคือ การเพิ่มจำนวนขึ้นของสาหร่ายขนาดเล็กที่กำลังเติบโต ขยายพื้นที่บนพื้นผิวของหิมะที่ละลายหายไป ทำให้พื้นที่ที่เคยปกคลุมด้วยหิมะสีขาวกลายเป็นสีเขียว และจะกลายเป็นแหล่งอาหารให้แก่สัตว์บางสายพันธุ์ต่อไป ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ย่อมส่งผลกระทบในทางที่ไม่ดีเท่าไรนักกับระบบนิเวศของบริเวณนั้น
ทีมนักวิจัยของประเทศอังกฤษที่อยู่เบื้องหลังผลงานวิจัยชิ้นนี้ได้เปิดเผยผ่านวารสาร Nature Communication เล่าว่า อุณหภูมิที่สูงกว่า 0 องศาเซลเซียสซึ่งร้อนมากพอจะทำให้น้ำแข็งละลายนั้น ทำให้พื้นที่ดังกล่าวเหมาะแก่การเจริญเติบโตของสาหร่าย ในบางพื้นที่สาหร่ายพวกนี้มีความหนาแน่นมากจนทำให้หิมะกลายเป็นสีเขียวสว่างและสามารถมองเห็นได้อย่างชัดเจนจากการสำรวจโดยภาพถ่ายจากอวกาศราว ๆ 1,700 จุดบริเวณแอนตาร์กติก จากการสำรวจในปัจจุบันพื้นที่ของสาหร่ายสีเขียวที่สำรวจพบ กินพื้นที่ไปแล้วกว่า 1.9 ตารางกิโลเมตร โดยนักวิทยาศาสตร์ค้นพบสาหร่ายสีเขียวครั้งแรกในพื้นที่แถบนี้ตั้งแต่ยุค 1950s-1960s ตอนที่ปริมาณยังไม่เยอะมาก
สาหร่ายถูกสำรวจพบเป็นพื้นที่เล็ก ๆ และพบในเกาะที่เป็นพื้นที่ราบรอบ ๆ คาบสมุทรแอนตาร์กติก โดยเกือบสองในสามของสาหร่ายเป็นสีเขียว พบได้ในบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากความร้อนค่อนข้างหนักหน่วง นอกจากนี้นักวิทยาศาสตร์ยังได้สังเกตการปรากฎขึ้นของตระไคร่น้ำและมอสบ้าง แต่พวกนี้จะมีการเจริญเติบโตที่ช้ากว่ามากเมื่อเทียบกับสาหร่ายสีเขียว ในอนาคตนักวิทยาศาสตร์วางแผนที่จะวัดสาหร่ายสีแดงและสีส้ม รวมถึงคาดการณ์ผลกระทบของสาหร่ายจำพวกสีสันอกเหนือจากสีเขียวที่เกิดขึ้นว่า จะสามารถสะท้อนความร้อนจากดวงอาทิตย์ได้หรือไม่
ในรายงานข่าวยังบอกอีกว่า Matt Davey นักชีววิทยาจากมหาวิทยาลัย Cambridge ได้ใช้เวลาทั้งหมด 6 ปี ในการรวบรวมข้อมูล ลงพื้นที่สำรวจและวัดพื้นที่ของสาหร่ายหิมะสีเขียว โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียมและการสังเกตการณ์จากภาคพื้นดิน เขาพบว่า อีกไม่นานทวีปแอนตาร์กติกาจะปลกคลุมด้วยสีเขียวมากขึ้นไปอีก ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงทางสิ่งแวดล้อมที่ไม่เคยปรากฎขึ้นมาก่อนในช่วงที่มนุษย์เกิดขึ้นและดำรงอยู่บนโลก “สาหร่ายเหล่านี้เกิดขึ้นมาร่วมกับเชื้อราและแบคทีเรีย ซึ่งอาจจะกลายเป็นที่อยู่อาศัยแห่งใหม่ของสิ่งมีชีวิต 3 ชนิดนี้ รวมถึงสามารถเป็นจุดเริ่มต้นของระบบนิเวศแบบใหม่อีกด้วยครับ”
ซึ่งเมื่อมองย้อนกลับมาว่า ปริมาณของคาร์บอนที่เกิดจากภาวะโลกร้อนจำนวนมากแค่ไหนที่ทำให้เกิดปรากฎการณ์นี้ได้ นักวิทยาศาสตร์ก็บอกว่า ต้องใช้มากถึง 479 ตันต่อปี และเทียบเท่ากับปริมาณการปล่อยคาร์บอนจากการเดินทางด้วยรถยนต์ประมาณ 875,000 คัน ซึ่งก็หมายความว่า ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มากขนาดนั้นและมากพอจะทำให้เกิดภาวะดังกล่าว ได้เกิดขึ้นแล้วในตอนนี้เลย (และจะมากขึ้นไปอีกแน่นอน ถ้ามนุษย์ยังไม่หยุดพฤติกรรมเพิ่มก๊าซเรือนกระจกขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ)
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส