แต่ไหนแต่ไรมา คำถามที่มวลมนุษยชาติอย่างเรา ๆ เฝ้าสงสัยมาเนิ่นนานคือ ยังมีใครอื่น นอกจากเราในเอกภพอีกหรือไม่ การหาจำนวนของความเป็นไปได้ของอารยธรรมอื่น จึงเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์เพียรหาคำตอบเรื่อยมา
ดูเหมือนเราจะเข้าใกล้คำตอบที่ว่านั่นไปอีกขั้น เมื่อล่าสุด งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม ซึ่งตีพิมพ์ในวารสาร The Astrophysical Journal ชี้ว่า อาจมี ‘สิ่งมีชีวิตนอกโลก’ ที่มีรูปแบบการพัฒนาหรือวิวัฒน์ คล้ายคลึงโลกของเราถึงมากกว่า 30 แห่งในทางช้างเผือก
การคำนวณเพื่อหาตัวเลขของ ‘สิ่งมีชีวิตนอกโลก’ ในกาแล็กซีทางช้างเผือก
ด้วยความอยากรู้ว่า จะมีดาวเคราะห์ที่เอื้อต่อการมีสิ่งชีวิตได้อยู่เท่าไหร่ นักวิจัยจึงลองตั้งสมมติฐานว่า มีสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาบนดาวเคราะห์ดวงอื่นในลักษณะคล้ายกับที่พัฒนาบนโลก และจับคู่กับดาวเคราะห์ที่มีลักษณะเป็นไปได้ต่อการพัฒนาชีวิตในรูปแบบนั้น
คริสโตเฟอร์ คอนเซลิส (Christopher Conselice) ศาตราจารย์ด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์ (Professor of Astrophysics) มหาวิทยาลัยนอตติงแฮม (University of Nottingham) หัวหน้างานวิจัยในครั้งนี้กล่าวว่า “มันควรจะมีอารยธรรมที่ยังดำรงอยู่อย่างน้อย 2-3 โหล ในกาแล็กซีของเรา ภายใต้เงื่อนไขที่ว่า มันใช้เวลาอย่างน้อย 5 พันล้านปี ในการก่อเกิดสิ่งมีชีวิตที่มีภูมิปัญญาเฉกเช่นเดียวกับที่เกิดกับโลก ซึ่งแนวความคิดนี้โฟกัสที่การวิวัฒนาการ แต่หากมองในสเกลที่ใหญ่ขึ้น อย่างระดับจักรวาล เราจะเรียกการคำนวณนี้ว่า ข้อจำกัดทางชีวดาราศาสตร์ของโคเปอร์นิคัส (Astrobiological Copernican Limit)
ข้อจำกัดทางชีวดาราศาสตร์ของโคเปอร์นิคัส คืออะไร
ข้อจำกัดทางชีวดาราศาสตร์ของโคเปอร์นิคัส คือ หลักการคำนวณหาความเป็นไปได้ของสิ่งมีชีวิตนอกโลก ซึ่งมีอยู่สองรูปแบบด้วยกันคือ การคำนวณหาลิมิตแบบอ่อน หรือการหาลิมิตขั้นต้น (Weak Limit) ซึ่งจะคำนวณหาสิ่งมีชีวิตทรงปัญญาบนดาวเคราะห์ที่มีสภาพแวดล้อมเอื้อต่อสิ่งมีชีวิตอายุเกิน 5 พันล้านปีขึ้นไป อีกรูปแบบคือ การคำนวณหาลิมิตแบบเข้ม หรือ การหาลิมิตขั้นสุด (Strong Limit) ที่คำนวณหาสิ่งมีชีวิตในช่วงระหว่าง 4.5 พันล้านถึง 5 พันล้านปีก่อน
ในการคำนวณแบบเข้มนี้ ดาวเคราะห์จำเป็นต้องมีธาตุโลหะที่เข้มข้นเหมือนดั่งโลก เนื่องจากได้รับอิทธิพลจากดาวฤกษ์ที่อุดมด้วยธาตุโลหะอย่างดวงอาทิตย์ ซึ่งเมื่อคำนวณด้วยหลักการอย่างหลังนี้ บวกกับระยะเวลาที่พวกเขาเหล่านั้นจะพัฒนาจนส่งสามารถสัญญาณต่าง ๆ อาทิ สัญญาณวิทยุ หรือสัญญาณดาวเทียม เพื่อบ่งชี้ถึงการดำรงอยู่ของตนออกไปสู่อวกาศ แล้วก็พบว่า มันควรจะมีอารยธรรมในกาแล็กซีทางช้างเผือกนี้อยู่ราว ๆ 36 แห่ง
อย่างไรก็ตาม ระยะห่างเฉลี่ยของอารยธรรมเหล่านี้อยู่ห่างออกไปถึง 17,000 ปีแสงซึ่งด้วยเทคโนโลยีปัจจุบัน ส่งผลให้การตรวจจับและการสื่อสารเป็นเรื่องยากมาก หรือไม่ก็อาจเป็นไปได้ว่า เราอาจเป็นสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาเดียวในกาแล็กซีนี้ ส่วนสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาอื่นอาจเคยดำรงอยู่ และล้มหายตายจากไปด้วยเงื่อนไขของเวลา ทำให้เราไม่อาจตรวจจับได้ทันเสียแล้ว
36 อารยธรรมนอกโลก ตัวเลขนี้สำคัญไฉน
“งานวิจัยของเราไม่เพียงแต่เปิดเผยจำนวนของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาที่อาจจะกำลังดำรงอยู่เท่านั้น แต่มันยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับระยะเวลาที่อารยธรรมของเราจะคงอยู่ได้ด้วย” ศาสตราจารย์คอนเซลิสกล่าว
จำนวนดังกล่าวอาจดูเหมือนมาก แต่ก็ยังน้อยกว่าที่เราเคยได้คาดการณ์หรือจินตนาการกันเอาไว้ อย่างไรก็ดี หากเราพบว่า การมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิเป็นเรื่องปกติ อารยธรรมของเราก็อาจจะอยู่ได้นานกว่าสองถึงสามร้อยปีนับจากนี้ แต่ในทางกลับกันหากไม่พบอารยธรรมอื่นที่ยังคงอยู่ในกาแล็กซีนี้ ก็มีความเป็นไปได้ว่า อารยธรรมของเราอาจจะอยู่ได้ไม่ยืนยาวนัก
“ในการค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก แม้เราจะไม่พบอะไรเลย แต่อย่างน้อย เราก็จะได้ค้นพบอนาคตและชะตากรรมของเราเอง”
ศาสตราจารย์คอนเซลิสกล่าวปิดท้าย
นอกจากการคำนวณเราจะค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลกด้วยวิธีการใดอีก
การค้นหาสิ่งมีชีวิตนอกโลก ไม่ใช่ประเด็นใหม่ที่เพิ่งมี ก่อนหน้านี้ เคยมีทั้งข่าวการค้นพบดาวเคราะห์ที่คาดว่าน่าจะมีสภาพเอื้อต่อการอยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตอย่าง พร็อกซิมา บี (Proxima b) ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ พร็อกซิมา เซนทอรี (Proxima Centauri) ซึ่งอยู่ห่างจากดวงอาทิตย์ของเราประมาณ 4.2 ปีแสงมาก่อนแล้ว
นักวิจัยที่ทำงานเกี่ยวกับคลื่นโทรทรรศน์วิทยุเอง ก็จับสัญญาณลึกลับที่เรียกว่า การระเบิดอย่างรวดเร็วของคลื่นวิทยุ (Fast Radio Bursts; FRBs) ซึ่งเกิดขึ้นในตำแหน่งเดิมซ้ำ ๆ และยังหาต้นกำเนิดไม่ได้อีกมากมายหลายสัญญาณ และมีแนวโน้มว่าจะพบเจอมากขึ้นเรื่อย ๆ
นอกจากนี้ นักวิจัยด้านดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะก็กำลังศึกษาเกี่ยวกับชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะต่าง ๆ เพื่อหาความเป็นไปได้ของสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมอยู่อย่างไม่หยุดยั้ง และแม้จะยังไม่เจอสิ่งมีชีวิต แต่ก็เป็นไปได้ว่า ดาวดวงเหล่านั้นอาจกลายเป็นอีกหนึ่งทางรอดของมวลมนุษยชาติในอนาคตก็เป็นได้
อ้างอิง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส