ภาวะโลกร้อนยังคงส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในปีนี้ที่บริเวณซีกโลกเหนือเกิดเหตุภัยพิบัติหลายอย่าง ทั้งการระบาดของมอดกินไม้ที่ทำให้เนื้อไม้อ่อนแอต่อไป เหมาะกับการเป็นเชื้อไฟ ก่อให้เกิดไฟป่าในไซบีเรียที่เกิดจากชาวไร่เผาป่าเพื่อใช้พื้นที่ทำการเกษตร (แต่ไฟลามจนคุมไม่ได้ คล้าย ๆ เหตุการณ์ในบ้านเรา) น้ำมันรั่ว และที่ส่งผลโดยตรงคืออุณหภูมิที่สูงขึ้น ทำให้พื้นที่แถบนั้นต้องเผชิญวิกฤตคลื่นความร้อน อย่างในแถบไซบีเรียที่อุณหภูมิสูงขึ้นมาก เห็นแบบนี้สำหรับผู้ที่บอกว่าแต่ละปัญหาสิ่งแวดล้อมที่แยกกันเกิด คนละที่คนละเวลาไม่เกี่ยวข้องกัน ก็คงจะปฏิเสธไม่ได้แล้ว
ในปีที่โลกกำลังจะถูกบันทึกลงหน้าประวัติศาสตร์ว่า มีอุณหภูมิสูงสุดตั้งแต่มีการบันทึกกันมาอันเป็นผลสืบเนื่องมาจากพฤติกรรมของมนุษย์ด้วย ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจำขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศจำนวนมาก ถึงแม้ในปีนี้จะเกิดมีการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาหรือโควิด-19 ที่ทำให้มนุษย์ชัตดาวน์โรงงานและการเดินทางที่ทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศโลกไปช่วงหนึ่ง
Copernicus Climate Change Service (C3S) หน่วยงานด้านอากาศของยุโรป ประกาศให้เดือนพฤษภาคม 2020 เป็นเดือนพฤษภาคมที่ร้อนที่สุดในโลกที่เคยมีการบันทึกกันมา (เสมอกับอุณหภูมิสูงสุดของโลกเมื่อปี 2016) อุณหภูมิเฉลี่ยสูงกว่าค่าเฉลี่ยปกติของปี 1981-2010 ประมาณ 0.63 องศาเซลเซียส แต่ในทางกลับกัน องค์การ NASA ออกมาให้สถิติ เดือนที่โลกร้อนที่สุด ก็คือเดือนพฤษภาคมปีนี้ ชนะปีไป 2016 ไป 0.06 องศาเซลเซียส
ภาวะโลกร้อนที่แสดงผลออกมาบริเวณขั้วโลกเห็นได้จากกระแสน้ำในมหาสมุทรที่พัดพาคลื่นความร้อนเข้ามายังชายฝั่ง และการละลายของหิมะจนเริ่มเกิดมีพื้นที่สีเขียวของสาหร่ายบนพื้นที่ที่เคยเป็นน้ำแข็งอย่างกว้างขวางขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ตัวอย่างชัด ๆ เรื่องอุณหภูมิที่สูงขึ้นมาก ได้แก่เมือง Nizhnyaya Pesha ในประเทศรัสเซีย ต้องเผชิญกับอุณหภูมิสูงสุดถึง 30 องศาเซลเซียสในวันที่ 9 มิถุนายน ที่ผ่านมา หรือเมือง Khatanga ที่ปกติมีอุณหภูมิเฉลี่ยตอนกลางวันอยู่ที่ 0 องศา ก็ได้จัดอุณหภมูิในตอนนี้ไปถึง 22 องศาเซลเซียส จากการวัดเมื่อ เมื่อ 25 พฤษภาคมที่ผ่านมา
“อากาศในเดือนพฤษภาคมในรัสเซียผิดเพี้ยนไปมาก อย่างบริเวณตะวันตกเฉียงเหนือของแถบไซบีเรียที่พิ่มขึ้นไปสูงถึง 10 องศาของค่าเฉลี่ยแบบนี้ ปกติจะเกิดขึ้นได้ 100,000 ปีครั้งเท่านั้น แสดงว่าภาวะโลกร้อนได้เร่งปฏิกิริยา ย่นเวลาของการเกิดวิกฤตขึ้นมามากครับ” Martin Stendel นักวิทยาศาสตร์จาก Danish Meteorological Institute อ้างอิงข้อมูลการวัดจาก C3S
ไม่เพียงแต่เดือนพฤษภาคมเท่านั้นที่อากาศแถบไซบีเรียร้อนขึ้น แต่ตลอดช่วงฤดูหนาวและฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมาก็ประสบกับอุณหภูมิพื้นผิวที่สูงขึ้นกว่าค่าเฉลี่ย รวมถึงฤดูหนาวของรัสเซียปีนี้เป็นปีที่ร้อนที่สุดในรอบ 130 ปี อุณหภูมิเฉลี่ยเพิ่มไปสูงกว่าปกติ 6 องศาเซลเซียส และหากแยกวิเคราะห์แค่ครึ่งปีแรกนี้ อุณหภูมิเฉลี่ยของรัสเซียในช่วงเดือนมกราคมถึงเดือนพฤษภาคม ก็สูงมากกว่าค่าเฉลี่ยถึง 5.3 องศา
“เมืองของเราหลายแห่งสร้างขึ้นบนพื้นที่ทางเหนือของ Arctic Circle ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ที่เป็นน้ำแข็ง (Permafrost) และถ้ามันเริ่มละลายมากขึ้น ๆ แน่นอนว่าผู้อยู่อาศัยในพื้นที่นั้นคงจะเดือดร้อนมาก” ประธานาธิบดี Vladimir Putin ของรัสเซียแถลงเมื่อต้นสิ้นปี 2019 นอกจากนี้ รายงานยังบอกอีกว่า แหล่งน้ำมันที่สำคัญของโลกอีกแห่ง ก็ตั้งอยู่ในบริเวณ Arctic Circle ของรัสเซีย และอาจได้รับความเสียหายจากการที่น้ำแข็งละลาย นำไปสู่การรั่วไหลของน้ำมันได้ภายในปี 2025
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส