เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า จรวดขนส่งลองมาร์ช-3บี (Long March-3B) บรรทุกดาวเทียมดวงสุดท้ายของระบบดาวเทียมนำทางเป่ยโต่ว (BeiDou Navigation Satellite System; BDS) ทะยานออกจากศูนย์ส่งสัญญาณดาวเทียมซีชาง มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ เวลา 09.43 น. ตามเวลาปักกิ่ง และนำดาวเทียมเข้าสู่วงโคจรได้สำเร็จ

จรวดบรรทุกดาวเทียมดวงสุดท้ายของระบบดาวเทียมนำทางเป่ยโต่วทะยานออกจากศูนย์ปล่อยดาวเทียมซีชาง เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ค.ศ. 2020
Credit: Xinhuathai

ศูนย์ปล่อยฯ รายงานว่า ดาวเทียมดวงล่าสุดนี้นับเป็นดวงที่ 55 ดาวเทียมดวงสุดท้ายของตระกูลเป่ยโต่ว (BeiDou) ซึ่งคำว่า BeiDou หมายถึง “กลุ่มดาวกระบวยใหญ่” (Big Dipper) 

การปล่อยดาวเทียมครั้งนี้ ทำให้มีกลุ่มดาวเทียมเข้าประจำการตามแผนงานที่วางไว้ครบถ้วนสมบูรณ์แล้ว พร้อมที่จะระบุตำแหน่งนำทางต่อไป และหากใช้งานได้ดีไม่มีปัญหา ระบบนี้ก็จะถือเป็นระบบนำทางทั่วโลกที่จีนพัฒนาขึ้นเองเป็นระบบแรก และเราก็จะมีตัวเลือกช่วยนำทางเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งระบบ นอกเหนือไปจาก GPS ของสหรัฐฯ GLONASS ของรัสเซีย และ GALILEO ของสหภาพยุโรป

จรวดขนส่งลองมาร์ช-3บี (Long March-3B) ขณะทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า
Credit: Xinhuathai

จีนเริ่มพัฒนาระบบดาวเทียมเป่ยโต่วในปี ค.ศ. 1990 และส่งดาวเทียมดวงแรกขึ้นสู่วงโคจรในเดือนตุลาคมปี ค.ศ. 2000 จากนั้น จึงเริ่มต้นอัปเกรดระบบในปี ค.ศ. 2009 สำหรับการดำเนินการครั้งล่าสุดนี้ ทำให้ ระบบดาวเทียมที่เรียกว่า BDS-3 มีดาวเทียมครบ 30 ดวง ครอบคลุมการใช้งานตั้งแต่การระบุตำแหน่งที่มีความแม่นยำสูงไปจนถึงการสื่อสารข้อความสั้น ๆ 

ตามรายงานของ China’s Global Times ระบบดาวเทียม BDS-3 นั้น มีแบนด์วิดธ์ที่สูงขึ้น ช่วยเพิ่มความสามารถในการสื่อสารและการดำเนินการที่แม่นยำยิ่งขึ้น เมื่อเปรียบเทียบกับรุ่น BDS-2 ซึ่งเป็นรุ่นก่อนหน้า โดยระบบหลักของ BDS-3 เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2018 แต่การส่งดาวเทียมดวงล่าสุดขึ้นไปนี้ จะช่วยเพิ่มความแรงของสัญญาณ และขยายความครอบคลุมไปยังผู้ใช้ทั่วโลก

จรวดขนส่งลองมาร์ช-3บี (Long March-3B) ขณะทะยานขึ้นสู่ท้องฟ้า
Credit: Xinhuathai

ระบบนำทางนี้ ทำงานด้วยการส่งสัญญาณไปยังตัวรับอย่างสมาร์ตโฟนและอุปกรณ์ที่ใช้ GPS อื่น ๆ ซึ่งสัญญาณนี้ประกอบด้วยข้อมูล อาทิ เวลาที่ส่งข้อความ (ทำให้นาฬิกาอะตอมสามารถตรวจวัดได้แม่นยำขึ้น) การระบุตำแหน่งวงโคจรของดาวเทียม โดยระบบการนำทางนี้จะสามารถระบุตำแหน่งที่แม่นยำได้ ก็ต่อเมื่อผู้ใช้ได้รับข้อมูลจากดาวเทียมอย่างน้อย 4 ดวง

ในขณะที่จีนประสบความสำเร็จในการส่งดาวเทียมดวงสุดท้ายขึ้นไป สหรัฐอเมริกาก็พยายามที่จะปรับปรุงระบบนำทาง หรือระบบ GPS ของตนเช่นกัน แต่เพราะการระบาดของโควิด ทำให้การส่งดาวเทียม GPS III ขึ้นสู่วงโคจร ต้องเลื่อนจากเดือนเมษายนที่ผ่านมาเป็นวันที่ 30 มิถุนายนแทน ซึ่งอเมริกาวางแผนไว้ว่า จะปรับปรุงระบบรุ่นนี้เสร็จสิ้นในปี ค.ศ. 2023 ที่จะมาถึง

สำหรับระบบอื่น ๆ อย่าง GLONASS ของรัสเซียนั้น มีการส่งดาวเทียมดวงล่าสุดไปเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์หลักใช้ในทางทหาร ทั้งทางบก ทางทะเล และอากาศ ส่วนระบบ GALILEO ของยุโรปนั้น เริ่มใช้งานมาตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 และคาดว่าจะส่งดาวเทียมดวงสุดท้ายของระบบเข้าสู่วงโคจรในช่วงปลายปีนี้ 

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส