แป๊บ ๆ ก็ผ่านพ้นไปแล้วกับวันครีษมายัน วันที่กลางวันยาวนานที่สุดของปี แถมปีนี้ยังน่าตื่นเต้นเป็นพิเศษเพราะมีเรื่องวันสิ้นโลกมาให้งงงวยเล่นด้วย คราวนี้ก็เลยมาถึงทีของวันที่สุดอีกอย่างหนึ่งบ้าง นั่นก็คือวันที่โลกอยู่ไกลจากดวงอาทิตย์ที่สุดนั่นเอง
ทุกปี หลังวันครีษมายัน 2 สัปดาห์ โลกจะโคจรไปถึงจุดที่ห่างดวงอาทิตย์ที่สุดในรอบปี ซึ่งปีนี้ ตรงกับวันที่ 4 กรกฏาคม 2563 ด้วยระยะห่าง 1.0167 AU (หน่วยวัดทางดาราศาสตร์ชนิดหนึ่ง 1 AU มีค่าประมาณ 149,597,871 กิโลเมตร) หรือประมาณ 152,096,156 กิโลเมตร
โลกไกล – โลกใกล้ คืออะไร
เพราะโลกโคจรรอบดวงอาทิตย์เป็นวงรี ไม่ใช่วงกลม แถมดวงอาทิตย์ไม่อยู่ตรงศูนย์กลางซะอีก นั่นจึงเป็นเหตุผลให้มี จุดที่โลกอยู่ใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุด “เพอริฮีเลียน (Perihelion)” และจุดที่ไกลดวงอาทิตย์ที่สุด “อะฟีเลียน (Aphelion)”
สำหรับช่วงระยะเวลาที่โลกใกล้ดวงอาทิตย์ที่สุดจะเกิดขึ้นในเดือนมกราคม ส่วนช่วงระยะเวลาที่โลกไกลดวงอาทิตย์ที่สุดจะเกิดขึ้นในเดือนกรกฎาคมของทุกปี
ไกลแค่ไหนถึงจะใกล้หายร้อนกันล่ะ
จากช่วงเวลาที่เกิดปรากฏการณ์จะเห็นว่าเดือนมกราคมที่โลกใกล้ดวงอาทิตย์ก็ไม่ใช่ฤดูร้อน แล้วช่วงเดือนกรกฏาคมก็ไม่เห็นจะหนาวเย็นตรงไหน นั่นก็เป็นเพราะอุณหภูมิบนโลกมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับระยะของความห่างยังไงล่ะ
แล้วมันขึ้นกับอะไรกัน ? ฤดูกาลของโลกขึ้นอยู่กับความเอียงของแกนโลกต่างหากเล่า
แกนหมุนของโลกเอียงทำมุม 23.5 องศากับแนวตั้งฉากกับระนาบวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ทำให้แสงอาทิตย์สาดส่องไปพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วโลกในปริมาณที่ไม่เท่ากัน ส่งผลให้มีอุณหภูมิต่างกัน รวมถึงมีระยะเวลากลางวันและกลางคืนที่ต่างกันด้วย เป็นเหตุให้เกิดฤดูกาลขึ้นบนโลก จะสังเกตได้ว่า ในฤดูร้อน เวลากลางวันจะยาวกว่ากลางคืน ดวงอาทิตย์จะขึ้นเร็วและตกช้า ส่วนในฤดูหนาว เวลากลางคืนจะยาวนานกว่ากลางวัน ดวงอาทิตย์จะขึ้นช้าและตกเร็ว
นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยอื่นที่ส่งผลให้โลก ‘ร้อน’ หรือ ‘เย็น’ อยู่อีกหลายเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นชั้นบรรยากาศ กระแสลม อุณหภูมิน้ำในมหาสมุทร และอื่น ๆ อีกมากมาย
ดังนั้น ถึงเป็นวันที่มีความ ‘ที่สุด’ อีกวันหนึ่งก็ไม่ต้องกังวลไป จะไปเที่ยวให้สมเป็นวันแรกของการหยุดยาวก็น่าจะดีอยู่เหมือนกัน
อ้างอิง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส