23 ก.ค. NASA เผยว่ากำลังทำภารกิจส่งกล้องโทรทรรศน์ ASTHROS (Astrophysics Stratospheric Telescope for High Spectral Resolution Observations at Submillimeter-wavelengths) ขนาด 2.5 ม. (8.4 ฟุต) ด้วยบอลลูนยักษ์กว้าง 150 เมตรหรือขนาดเท่าสนามฟุตบอลสู่ชั้นบรรยากาศสทราโทสเฟียร์ที่ความสูง 40 กม. (130,000 ฟุตหรือ 24.6 ไมล์) เพื่อสังเกตความยาวคลื่นของแสงอินฟราเรดย่านไกล (Far-infrared light) ที่มองไม่เห็นจากพื้นโลก ในการศึกษาการก่อตัวของดาวฤกษ์ รวมทั้งการส่งผลต่อวัตถุโดยรอบจากการระเบิดของซูเปอร์โนวา และจะปล่อยบอลลูนในเดือนธันวาคม 2023 จากทวีปแอนตาร์กติกา
ASTHROS จะมีชุดกระจก เลนส์ และอุปกรณ์ตรวจจับแสงอินฟราเรดย่านไกลที่ต้องการความเย็นใกล้กับลบ 451.3 องศาฟาเรนไฮต์จนถึงเหนือศูนย์สมบูรณ์ โดยจะใช้ Cryocooler เครื่องทำความเย็นอุณหภูมิต่ำขนาดเล็กในการทำความเย็นไปจนเสร็จภารกิจ
ASTHROS ยังมีเครื่องมือวัดการเคลื่อนที่และความเร็วของก๊าซรอบดาวฤกษ์ที่พึ่งเกิดใหม่ โดยมี 4 เป้าหมายในการสังเกต คือ TW Hydrae ดาวฤกษ์วัยเตาะแตะที่กำลังเกิดจากการล้อมรอบด้วยจานฝุ่นและก๊าซอย่างมหาศาล การวัดมวลรวมของจานฝุ่นที่ก่อให้เกิดดาวฤกษ์ เปิดเผยตำแหน่งที่ฝุ่นจับตัวกันเป็นดาวฤกษ์ และเรียนรู้ว่าจานฝุ่นก่อให้เกิดดาวฤกษ์ได้อย่างไร
รวมทั้งศึกษา Nebula หรือพื้นที่ในการก่อตัวเป็นดาวฤกษ์ในแกแล็กซีทางช้างเผือก 2 แห่งด้วยกัน โดยจะตรวจจับและทำแผนที่การปรากฏตัวของไนโตรเจนไอออน 2 ชนิด ซึ่งไนโตรเจนไอออนจะสามารถบอกสถานที่ที่ลมจากดาวมวลขนาดใหญ่ (Massive star) และการระเบิดของซุปเปอร์โนวาที่ได้ก่อร่างเป็นเมฆก๊าซใน Nebula การระเบิดทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า Stellar feedback ซึ่งมีผลต่อการขัดขวางหรือเร่งการก่อตัวของดาวฤกษ์ ซึ่งทีมงานหวังว่าจะได้รับข้อมูลเชิงลึกสำหรับให้คอมพิวเตอร์จำลองการวิวัฒนาการของแกแล็กซี
ในแผนของภารกิจนี้คาดว่าบอลลูนจะวนรอบขั้วโลกใต้ 2 – 3 รอบภายในเวลาประมาณ 21 – 28 วัน ซึ่งจะพัดพาไปโดยลมในสทราโทสเฟียร์ เมื่อภารกิจเสร็จสมบูรณ์ก็จะส่งคำสั่งยกเลิกเที่ยวบินโดยจะแยก Gondola หรือตะกร้าโดยสารออกมาลงสู่พื้นดินด้วยร่มชูชีพ เพื่อเก็บ ASTHROS และนำกลับไปใช้ใหม่ในครั้งต่อไป
เชื่อว่า ASTHROS ของ NASA จะทำให้การศึกษาเกี่ยวกับการกำเนิดดาวฤกษ์และแกแล็กซีมีความสมบูรณ์ขึ้น
ที่มา : engadget และ jpl.nasa.gov
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส