เมื่อพูดถึงการทำให้ชาติมหาอำนาจอื่นเกรงใจ ‘อาวุธสงคราม’ อย่างระเบิดปรมาณู (หรือเรือดำน้ำ?) จึงกลายเป็นเครื่องมือที่ใช้ข่มขวัญศัตรูมาช้านาน จนเข้าสู่ยุคปัจจุบันที่คนตระหนักว่ามีสิ่งอื่นอีกมากที่ใช้สร้างอำนาจต่อรองได้เช่นกัน เพื่อเรียนรู้จากอดีตและฉลองครบรอบ 75 ปี การก่อตั้งหน่วยงานด้านนิวเคลียร์ รัสเซียจึงปล่อยคลิปทดลองระเบิดนิวเคลียร์สุดระทึกในอดีตให้ชาวโลกได้ยล
20 สิงหาคม 1945 คือวันเริ่มต้นอุตสาหกรรมนิวเคลียร์ของรัสเซีย ที่ให้พลังงานมหาศาลต่อการพัฒนาทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ แก่คนในประเทศ สำหรับปีนี้ ครบรอบ 75 ปี พอดี หน่วยงานที่รับผิดชอบอย่างรอสอะตอม (ROSATOM) จึงจัดการเฉลิมฉลองขึ้น โดยจะมีกิจกรรมต่างๆ เกิดขึ้นตลอด 75 วัน เริ่มตั้งแต่วันที่ 20 สิงหาคม 2020 ที่เป็นวันครบรอบ เพื่อนำเสนอความรู้ สร้างความเข้าใจในคนทั่วไปทราบถึงประโยชน์ของนิวเคลียร์ ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นอาวุธที่ใช้ปกป้องประเทศ แต่ยังเป็นแหล่งพลังงานสำคัญ
เป็นส่วนประกอบของอุปกรณ์ทางการแพทย์เพื่อการวินิจฉัยโรค ไปจนถึงระบบรักษาความปลอดภัย การใช้ในงานวิจัยต่าง ๆ อันนำมาซึ่งเทคโนโลยีที่มีประโยชน์ต่อมวลมนุษย์มากมาย ภายใต้ธีม 3 ส่วน ได้แก่ “อดีต” “ปัจจุบัน” และ “อนาคต”
ในวาระของอดีต มีการรวบรวมข้อมูลทางประวัติศาสตร์นิวเคลียร์มากมาย รวมถึงคลิปวีดิโอจำนวนมากก็ถูกเผยแพร่เป็นครั้งแรกเพื่อการนี้ หนึ่งในนั้นที่น่าสนใจและชวนตื่นตะลึงสุดๆ คือ คลิปวิดีโอที่แสดงพลานุภาพของระเบิดปรมาณูที่ผลิตขึ้นมาเมื่อ 60 ปีก่อน นามว่า ‘ซาร์ บอมบา’ (Tsar Bomba)
30 ตุลาคม 1961 เครื่องบินทิ้งระเบิด TU ‑ 95 ได้ทิ้งระเบิดไฮโดรเจน AN602 หรือ ซาร์บอมบา ที่มีแรงระเบิดเทียบเท่า TNT 58 เมกะตัน ที่พื้นที่ทดลองใน Novaya Zemlya เพื่อทำการทดสอบ
AN602 (aka Tsar Bomba หรือ Kuzka’s Mother) เป็นระเบิดทางอากาศแบบเทอร์โมนิวเคลียร์ (Thermonuclear) ที่พัฒนาขึ้นในสหภาพโซเวียตโดยกลุ่มนักฟิสิกส์นิวเคลียร์ภายใต้การนำของอิกอร์ คุรชาตอฟ (Igor Kurchatov) มีน้ำหนักประมาณ 26 ตันและมีขนาดใกล้เคียงกับรถบรรทุก ผลผลิตระเบิดนั้นประมาณ 100 เมกะตัน แต่เพื่อวัตถุประสงค์ในการทดสอบจึงลดปริมาณลงครึ่งหนึ่ง แต่นั่นก็ยังมากกว่าแรงระเบิดนิวเคลียร์ของสหรัฐฯ ใช้ถล่มเมืองฮิโรชิมาถึง 3,333 เท่า
และนั่น ส่งผลให้ ‘ซาร์บอมบา’ เป็นอาวุธที่ทรงพลังและมีพลังทำลายล้างที่สุดในประวัติศาสตร์ในบรรดาอาวุธที่ผ่านการทดสอบ ช่วยสร้าง ‘จุดเปลี่ยน’ ที่สำคัญระหว่างสหภาพโซเวียตและสหรัฐอเมริกา ทำให้ทั้งสองประเทศมหาอำนาจต่างตระหนักถึงความเสี่ยงและผลอันร้ายแรงของสงครามนิวเคลียร์ ช่วยให้โลกรู้ว่า การจะเกิดสงครามโลกครั้งที่สามนั้นเป็นไปไม่ได้ และไม่ควรเกิดขึ้น
เดิมทีสหภาพโซเวียตด้อยกว่าอเมริกาในเรื่องจำนวนอาวุธนิวเคลียร์ แต่แม้จะเป็นเช่นนั้น สหภาพโซเวียตก็เริ่งพัฒนาไม่หยุด จนในปี 1950 แม้จำนวนระเบิดจะยังน้อยกว่า แต่ก็มีพลังและพลานุภาพมากกว่าแล้ว ซึ่งนั่นก็ช่วยรับประกันว่าจะไม่มีการรุกรานประเทศเกิดขึ้น และในที่สุดในปี 1976 สหภาพโซเวียตก็สามารถไล่ตามจำนวนระเบิดที่สหรัฐฯ สร้างได้สำเร็จ
สำหรับผลการทดสอบระเบิดลูกยักษ์นี้ เกินความคาดหมายเป็นอย่างมาก ผู้สังเกตการณ์สามารถมองเห็นแสงสว่างวาบจากระเบิดได้ในระยะทางมากกว่า 1,000 กิโลเมตร มองเห็นได้จากทั้งในนอร์เวย์ กรีนแลนด์ และอะแลสกา เมฆรูปเห็ดมีความสูงถึง 67 กิโลเมตร เส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 40 กิโลเมตร (ในคลิป ณ จุดสังเกตการณ์ภาคพื้น เราถึงกับมองไม่เห็นด้านบนของรูปเห็ดด้วยซ้ำ) ส่วนเสียงนั้นก็ได้ยินไปไกลถึง 800 กิโลเมตรเลยทีเดียว
แรงระเบิดยังก่อให้เกิดคลื่นอินฟราซาวด์ (Infrasound wave) ซึ่งเป็นช่วงคลื่นที่มีความถี่ต่ำกว่าคลื่นเสียงที่คนได้ยิน (ต่ำกว่า 20 เฮิรตซ์) โคจรรอบโลกถึงสามครั้ง ส่วนเครื่องบินบรรทุกซึ่งเคลื่อนตัวออกไปได้ประมาณ 40 กิโลเมตรขณะที่ระเบิดทำงาน ก็ยังหลีกหนีคลื่นระเบิดไม่พ้น ส่งผลชิ้นส่วนภายนอกบางส่วนละลาย แม้จะทาสีด้วยสีสะท้อนแสงที่ออกแบบมาเป็นพิเศษก็ตาม
เห็นแบบนี้แล้วรู้สึกเลยว่า โชคดีที่ทั้งสองชาติมหาอำนาจไปแข่งกันพัฒนาด้วยเทคโนโลยีอื่นเช่นดาราศาสตร์แทน ขอบคุณนายมากนะซาร์บอมบา แต่ถ้าไม่มีพวกนายเพิ่มมาอีกจะดีกว่าเยอะเลย!
อ้างอิง
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส