จากฝนที่ตกกระหน่ำตั้งแต่กลางดึกจนถึงช่วงเช้าส่งผลให้ฟ้าเหนือกทม. วันนี้ (1 ก.ย.) ในช่วงเวลาดังกล่าวปิดสนิทมองไม่เห็นอะไร ทว่า หากมองจากอวกาศด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยแล้ว ฟ้าที่เห็นว่าปิดนั้นอาจดูแตกต่างไป อย่างเมื่อ 27 สิงหาคมที่ผ่านมา พายุเฮอริเคนลอร่า (Hurricane Laura) ถล่มตามแนวชายฝั่งหลุยเซียน่าและเท็กซัส สหรัฐอเมริกา ด้วยกำลังลม 150 ไมล์ต่อชั่วโมง (ประมาณ 241 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและฝนตกหนัก ในภาคพื้นดินเจ้าหน้าที่ฉุกเฉินได้ระดมกำลังเพื่อรับมือกับพายุรุนแรง และเหนือขึ้นไปในอวกาศ ฝูงดาวเทียมสังเกตการณ์โลกของนาซาและหน่วยงานด้านอวกาศทั่วโลกก็กำลังปฏิบัติหน้าที่รวบรวมข้อมูลอย่างแข็งขันเช่นกัน

“เราใช้เทคโนโลยีที่ล้ำสมัยของนาซา เพื่อจัดการกับภัยพิบัติ” ลอรี ชูลทซ์ (Lori Schultz) นักวิทยาศาสตร์ด้านการสำรวจระยะไกลจากมหาวิทยาลัยอะลาแบมา (University of Alabama) ผู้ที่ใช้ข้อมูลจากนาซารับมือกับพายุในโครงการรับมือกับภัยพิบัติด้วยวิทยาศาสตร์ประยุกต์ของนาซา (NASA Earth Applied Sciences Disasters Program) เพื่อจัดหาข้อมูลล่าสุด เพื่อช่วยชุมชนเตรียมรับมือกับภัยพิบัติและการกู้ภัย

ชูลทซ์และทีมรับมือภัยพิบัติของนาซา ประมวลผลและวิเคราะห์ข้อมูลที่รวบรวมโดยดาวเทียมที่ติดตามพายุเฮอริเคนลอร่าทั้งก่อน ระหว่าง และหลังจากที่มันทำให้เกิดแผ่นดินถล่ม ดาวเทียมที่ใช้ข้อมูลรวบรวมได้แก่ ดาวเทียมสำรวจทางธรณีวิทยาแลนด์แซต NASA-U.S (NASA-U.S. Geological Survey Landsat satellites) ดาวเทียมวัดปริมาณน้ำฝนทั่วโลกของสองหน่วยงาน NASA-JAXA (NASA-JAXA Global Precipitation Measurement satellite) ดาวเทียม Sentinel 1 และ 2 ของ หน่วยงานอวกาศยุโรป และดาวเทียมอื่น ๆ เพื่อสร้างแผนที่น้ำท่วมประเมินการกัดเซาะชายฝั่ง และระบุพื้นที่เสียหาย

เครื่องสร้างภาพจากรังสีอินฟราเรด (Visible Infrared Imaging Radiometer Suite: VIIRS) บนดาวเทียม NOAA-20
บันทึกภาพเฮอริเคนลอร่า เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2563
Credits: NASA’s Earth Observatory

ภาพด้านบนบันทึกหลังจากที่พายุเข้าถล่มประมาณสองชั่วโมง เมฆถูกแสดงในรูปแบบอินฟราเรด โดยใช้ข้อมูลอุณหภูมิความสว่างแยกเมฆที่เย็นกว่าออกจากเมฆที่อุ่นกว่าด้านล่าง และนำมาซ้อนทับกับภาพแสงไฟในเมืองจากดาวเทียมแบล็กมาร์เบิล (Black Marble) ของนาซา ทำให้เกิดภาพงดงาม เสมือนมองดูท้องฟ้าที่เต็มไปด้วยแสงดาวในยามราตรี

และเพื่อให้ข้อมูลดังกล่าวเผยแพร่ไปยังผู้ที่ต้องการมากที่สุด นาซาจึงร่วมมือกับหน่วยงานที่รับมือกับพายุ เช่น สำนักจัดการภาวะฉุกเฉินกลาง (Federal Emergency Management Agency) และหน่วยงานระดับภูมิภาคที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากพายุ

นอกจากพายุเฮอริเคนแล้ว โครงการรับมือภัยพิบัติของนาซา ยังสร้างข้อมูลที่เข้าถึงได้ง่ายและแจกจ่ายให้กับผู้ที่ทำงานที่เกี่ยวข้องในหลายกรณี ไม่ว่าจะเป็นภัยพิบัติ เช่น สึนามิ น้ำท่วม ไฟไหม้ป่า แผ่นดินไหวภูเขาไฟ ตลอดจนการรั่วไหลของน้ำมัน แม้กระทั่ง นาซาไขปริศนา “ทำไมระดับน้ำทะเลพุ่งสูงเกินคาด” ช่วยรับมือ ‘เมืองจมน้ำ’ ในอนาคต ก็เป็นหนึ่งในโครงการนั้น ข้อมูลดังกล่าวช่วยให้เจ้าหน้าที่จัดการภัยพิบัติ เตรียมพร้อมสำหรับเหตุการณ์และวางแผนการกู้ภัย ทั้งยังใช้ศึกษาภัยธรรมชาติที่รุนแรงและผลกระทบที่มีต่อโลกของเรา และทำให้เราได้มองเห็นความงามของโลกจากมุมมองอวกาศด้วย

อ้างอิง

NASA

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส