มากันแบบรัว ๆ เหมือนกลัวชาวโลกเลิกจับตากับบรรดาดาวเคราะห์น้อยจึงยังคงพากันเข้ามาใกล้โลกเรื่อย ๆ ล่าสุด สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้โพสต์ข้อมูลเกี่ยวกับการมาเยือนของดาวเคราะห์น้อย นาม ‘2010 FR’ ในวันที่ 6 กันยายน นี้ ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่ากว่ามหาพีระมิดแห่งกีซาในประเทศอียิปต์เสียอีก

ดาวเคราะห์น้อย ‘2010 FR’ หรือชื่อเต็มคือ 465824 2010 FR ค้นพบครั้งแรกโดยหอดูดาวคาตาลินา สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2553 มีขนาดประมาณ 270 เมตร ซึ่งหากวัดด้วยความสูงมันมีขนาดใหญ่กว่าพีระมิดกีซาถึงสองเท่า ด้วยขนาดที่ใหญ่โตเกินกว่า 140 เมตร ซึ่งเป็นค่าที่ใหญ่กว่าเกณฑ์เฝ้าระวังของศูนย์ติดตามวัตถุใกล้โลกของนาซา (CNEOS) มันจึงถูกจัดอยู่ในวัตถุใกล้โลก (Near Earth Object) ประเภทดาวเคราะห์น้อยที่มีความเสี่ยง (Potentially Hazardous Asteroid) ทันที

อย่างไรก็ตาม ดาวเคราะห์น้อย 2010 FR จะโคจรเข้ามาใกล้โลกที่สุดประมาณ 7.4 ล้านกิโลเมตร หรือ 19.3 เท่าของระยะทางเฉลี่ยจากโลกถึงดวงจันทร์ ด้วยระยะห่างดังกล่าวจึงเป็นไปได้ยากที่จะเข้ามาในระยะที่จะพุ่งเข้าสู่โลก แต่เพราะขนาดที่ค่อนข้างใหญ่ และโอกาสที่จะพุ่งเข้าสู่โลกไม่ได้เท่ากับศูนย์ นักดาราศาสตร์จึงยังคงเฝ้าติดตามดาวเคราะห์น้อยอย่างใกล้ชิด

และถ้าหากดาวเคราะห์น้อยเปลี่ยนเส้นทางล่ะ จะทำอย่างไร? ที่ผ่านมานักวิทยาศาสตร์ได้แนะนำวิธีต่าง ๆเพื่อกำจัดดาวเคราะห์น้อย ทั้งการระเบิดดาวเคราะห์น้อยก่อนที่มันจะมาถึงโลก หรือทำให้ดาวเคราะห์น้อยหันเหออกจากเส้นทางที่มีจะเข้ามาสู่โลกด้วยการใช้ยานอวกาศพุ่งชน ซึ่งอย่างแรกน่าจะเป็นคำตอบสำหรับกรณีที่เกิดเรื่องเหนือคาดในตอนนี้

สำหรับมาตรการป้องกันภัยคุกคามจากดาวเคราะห์น้อยในอนาคต นอกจากการเฝ้าระวังแล้ว ยังมีโครงการที่กำลังก่อสร้างอย่าง Asteroid Impact and Deflection Assessment (AIDA) เพื่อทดสอบและตรวจสอบว่าการชนของยานอวกาศสามารถเบี่ยงเบนดาวเคราะห์น้อยบนเส้นทางปะทะกับโลกได้หรือไม่ ซึ่งมีภารกิจ Double Asteroid Redirection Test (DART) ของนาซารวมอยู่ด้วย ซึ่งเป้าหมายของภารกิจคือการเปลี่ยนเส้นทางของดาวเคราะห์น้อย โดยมีเป้าหมายแรกคือ Didymos ซึ่งเป็นดาวเคราะห์น้อยแบบไบนารี (ระบบของดาวเคราะห์น้อยสองดวงที่โคจรรอบแบริเซนเตอร์ร่วมกัน) ที่มีขนาดที่อาจเป็นภัยคุกคามโลกในอีกหลายปีข้างหน้า

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส