ตื่นเต้นกันไปเบอร์ใหญ่เมื่อนาซาประกาศการค้นพบ ‘สัญญาณของสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์’ เมื่อสัปดาห์ก่อน หน่วยงานด้านอวกาศของรัสเซียเองก็ไม่ยอมน้อยหน้า รีบออกมาพูดถึงภารกิจสำรวจดาวศุกร์ของตนทันที

หลังประกาศการพบ “สัญญาณของสิ่งมีชีวิตบนดาวศุกร์” เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2563 มีข่าวหลายแหล่ง รายงานว่า รัสเซียได้เรียกดาวศุกร์ว่าเป็น ‘ดาวเคราะห์ของรัสเซีย’ ด้วยความสงสัยว่ารัสเซียจะกล้าประกาศกร้าวแบบนั้นจริงหรือไม่ เราจึงลองค้นดูข่าวต้นทางจนพบประโยคเจ้าปัญหาฉบับเต็มที่ ดมิทรี ราโกซิน (Dmitry Rogozin) ผู้อำนวยการองค์การอวกาศรัสเซียหรือรอสคอสมอส (Roscosmos) กล่าวไว้เป็นภาษารัสเซียและอังกฤษ ใจความดังนี้

“We have in our program the topic of resuming the exploration of Venus. First, this is the Venera-D project jointly with the Americans. We are also considering a separate mission to Venus. We believe that Venus is a Russian planet, so there is nothing to be left behind”

แปลความหมายก็คือ “เรามีโปรแกรมที่จะกลับไปสำรวจดาวศุกร์อีกครั้งด้วยโครงการเวเนรา-ดี ที่จะร่วมมือกับอเมริกา และเราก็พิจารณาภารกิจที่จะไปดาวศุกร์แยกต่างหากด้วย เพราะเราเชื่อว่าดาวศุกร์คือดาวเคราะห์ของรัสเซีย ดังนั้น เราไม่ควรจะล้าหลังในเรื่องนี้”

และเมื่อค้นไปยังข้อมูลที่ออกจากรอสคอสมอสก็พบคำอธิบายหนึ่งที่น่าสนใจว่า

การที่สหภาพโซเวียตแยกตัวออกจากการแข่งขันสำรวจดาวอื่นมาสำรวจดาวศุกร์ มีส่วนทำให้สหรัฐอเมริกาเรียกดาวศุกร์ว่าเป็น ‘ดาวเคราะห์โซเวียต (Soviet planet)’

เมื่อประมวลจากข้อความทั้งสองจึงอาจหมายความได้ว่า รัสเซียไม่ได้ประกาศโต้ง ๆ ตรงความหมายตามตัวอักษรว่า ‘ดาวศุกร์คือดาวเคราะห์ของรัสเซีย’ ในเชิงการแสดงสิทธิความเป็น ‘เจ้าของดวงดาว’ แต่อย่างใด แต่น่าจะเป็นไปในทำนองว่า ดาวศุกร์เป็นดาวที่รัสเซียให้ความสำคัญในเชิงของการศึกษาและสำรวจมานาน (ซึ่งก็นานและเยอะจริง) จนรู้สึกว่าเป็นดาวของรัสเซียในแง่ของการสำรวจและการปฏิบัติภารกิจมากกว่า (แถมสหรัฐฯ เองก็ยังรู้สึกแบบนั้นจนเรียกออกมาเองด้วยซ้ำ) เหมือนกับที่สหรัฐฯ ให้ความสำคัญกับการสำรวจดวงจันทร์นั่นแหละ ซึ่งหากมองในแง่นี้ การมีชาติอื่นไปพบอะไรบนดาวศุกร์ตัดหน้า ก็จะเป็นที่เสียหน้าไม่น้อย (เลยต้องออกมาพูดแบบนี้ไง)

เพื่อยืนยันความเยอะและความทุ่มเทในการศึกษาสำรวจดาวดวงนี้ เราจึงนำข้อมูลเกี่ยวกับการศึกษาดาวศุกร์ของสหภาพโซเวียตและรัสเซียมาให้ดูกันสักหน่อย

‘เวเนรา’ (Venera/ Вене́ра) แปลว่า ‘วีนัส’ หรือ ‘ดาวศุกร์’ ในภาษารัสเซีย เป็นชื่อที่ตั้งให้กับยานสำรวจอวกาศที่พัฒนาโดยสหภาพโซเวียตระหว่างปี พ. ศ. 2504 ถึง พ.ศ. 2527 เพื่อรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับดาวศุกร์ ยานสำรวจเวเนรามีจำนวนหลายลำมาก ๆ ทั้งยังมียานที่ชื่อ เวกา (Vega) อีกสองลำรวมอยู่ในภารกิจของเวเนราด้วย แต่มีเพียง 13 ลำที่เข้าสู่ชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ได้สำเร็จ และมี 10 ลำลงจอดบนพื้นผิวของดาวได้ แต่เพราะสภาพแวดล้อมที่รุนแรงบนดาวศุกร์ ยานสำรวจแต่ละลำจึงอยู่รอดบนพื้นผิวได้เพียงช่วงสั้น ๆ เท่านั้น (ตั้งแต่ 23 นาที – 2 ชั่วโมง)

ภารกิจของเวเนรา มีทั้งการบินโคจรสำรวจรอบดาว การสำรวจชั้นบรรยากาศ และการลงจอดเพื่อเก็บข้อมูลต่าง ๆ ที่พื้นผิวดาว ถือเป็น ‘แบบอย่าง’ หรือ ‘ต้นแบบ’ ให้กับภารกิจสำรวจอวกาศโดยใช้อุปกรณ์ในหลายรูปแบบ เช่น

  • ภารกิจ Venera 3 (1 มีนาคม 2509) ที่นำอุปกรณ์ที่มนุษย์สร้างขึ้นเข้าสู่ชั้นบรรยากาศของดาวเคราะห์ดวงอื่นได้เป็นครั้งแรก
  • ภารกิจ Venera 7 (15 ธันวาคม 2513) เป็นครั้งแรกที่ยานสำรวจสามารถลงจอดอย่างนุ่มนวลบนดาวเคราะห์ดวงอื่น
  • ภารกิจ Venera 9 (8 มิถุนายน 2518) มีการส่งภาพแรกของพื้นผิวดาวเคราะห์กลับมายังโลกได้สำเร็จเป็นครั้งแรก
  • ภารกิจ Venera 15 (2 มิถุนายน 2526) สามารถสแกนภาพแผนที่เรดาร์ความละเอียดสูงได้เป็นครั้งแรก

อย่างไรก็ตาม ภารกิจของเวเนรายุติไปพร้อมกับบรรยากาศสงครามเย็นที่คลี่คลายลง และนั่นคือเหตุผลที่รัสเซียออกมาประกาศให้โลกรู้ว่า แม้จะเงียบไป แต่จริง ๆ แล้วความสนใจในดาวดวงนี้ยังไม่ได้หมดตามไปด้วยนะ ทั้งยังมีแผนนำโครงการเวเนรากลับมาอีกครั้ง ภายใต้ชื่อภารกิจ เวเนรา-ดี ที่ร่วมมือกับสหรัฐอเมริกานั่นเอง

อ้างอิง

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส