จากข่าวที่ชาวบ้านฮือฮากับการค้นพบหินอุกกาบาตในพื้นที่ป่าชุมชนเขตติดต่อหมู่บ้านแม่สะต๊อก บ้านนาฮ่อง ต.แม่ศึก อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 25 กันยายนที่ผ่านมา ล่าสุด สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) หรือ NARIT ออกมาชี้แจงแล้วว่าเป็น ‘หินภูเขาไฟ’ ไม่ใช่อุกกาบาตแต่อย่างใด
เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2563 มีชาวบ้านจำนวนหนึ่งพบเห็นลำแสงพุ่งตกจากฟ้า จึงคาดกันว่าเป็น ‘อุกกาบาต’ ตกลงมาในบริเวณดังกล่าว และเริ่มพากันออกตามหา ก่อนพบกับวัตถุประหลาดขนาดเท่าลูกฟุตบอล แต่เก็บไว้ไม่ได้เปิดเผยให้ใครทราบ กระทั่งมีข่าวแพร่สะพัดขึ้นมา ทางอำเภอแม่แจ่มจึงนำวัตถุดังกล่าวส่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตรวจสอบ เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงจากหลักฐานที่รวบรวมได้
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. อธิบายถึงผลการตรวจสอบในเฟซบุ๊ก NARIT สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ ว่าวัตถุที่พบมีลักษณะเป็นรูพรุน น้ำหนักเบากว่าหินและโลหะทั่วไป รูปร่างคล้ายวัตถุที่ถูกเผาไหม้ด้วยความร้อนจนหลอมละลายแล้วเย็นตัวลง หลังจากสังเกตและวิเคราะห์ด้วยลักษณะทางกายภาพ เบื้องต้นคาดว่า ไม่ใช่หินอุกกาบาต เนื่องจาก ลักษณะของอุกกาบาตจะไม่เป็นรูพรุน และอาจเป็นไปได้ว่าจะเป็นหินประเภทหินอัคนีพุ (Extrusive Rock) หรือหินภูเขาไฟ (Volcanic Rock) ที่เกิดขึ้นบนโลกเมื่อนานมาแล้วในอดีต
‘หินภูเขาไฟ’ เกิดจากการเย็นตัวและตกผลึกของลาวาเหลว เมื่อลาวาขึ้นมาบนผิวโลกและเย็นตัวลง ฟองแก๊สเหล่านี้จึงทำให้เกิดโพรง ดูเป็นรูพรุนคล้ายฟองน้ำ นอกจากนี้ จากข้อมูลแผนที่ธรณีวิทยาของพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ พบว่า หินอัคนีสามารถพบได้ในหลายพื้นที่ รวมทั้งบริเวณอ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ด้วย
สำหรับประเด็นเรื่องลำแสงพุ่งตกจากฟ้าในช่วงต้นเดือนสิงหาคมนั้น คาดว่าน่าจะเป็นดาวตกมากกว่า โดยปกติเราสามารถสังเกตเห็นดาวตกได้ทุกคืน ดาวหางเกิดจากเศษฝุ่นละอองที่ดาวเคราะห์น้อยหรือดาวหางเหลือทิ้งไว้ในวงโคจร เมื่อโลกโคจรตัดผ่านเข้าไปในบริเวณที่มีเศษฝุ่นดังกล่าว จะดึงดูดเศษฝุ่นเหล่านี้เข้ามาในชั้นบรรยากาศ เกิดการลุกไหม้เป็นแสงสว่างวาบบนท้องฟ้า
นอกจากนี้ ในช่วงที่เกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ตรงกับเดือนสิงหาคม ซึ่งช่วงที่มีปรากฏการณ์ฝนดาวตกเพอร์เซอิดส์ (Perseids Meteor Shower) หรือฝนดาวตกวันแม่พอดี การที่มีผู้พบเห็นลำแสงดังกล่าวประกอบกับพบวัตถุปริศนา จึงอาจทำให้เกิดความเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอุกกาบาตได้
ทั้งนี้ หากพบวัตถุต้องสงสัย นายศุภฤกษ์ได้แนะนำวิธีพิจารณาเบื้องต้นจากรูปพรรณสัณฐาน คือ
- รูปร่าง รูปทรงของอุกกาบาตส่วนใหญ่จะมีลักษณะไม่สมมาตร เนื่องจากขณะที่วัตถุเคลื่อนที่ผ่านชั้นบรรยากาศจะเกิดความร้อนสูง ส่งผลให้รูปร่างของอุกกาบาตเปลี่ยนไป จากรูปทรงกลมหรือเกือบกลม จึงกลายเป็นรูปทรงไม่สมมาตร
- สีผิวชั้นนอก ผิวของอุกกาบาตที่เพิ่งตกลงบนพื้นโลกจะเป็นสีดำสนิท แต่หากเป็นอุกกาบาตที่ตกอยู่บนพื้นโลกเป็นเวลานานแล้ว จะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเกิดจากสนิม
- ลักษณะของผิวชั้นนอก ผิวของอุกกาบาต โดยเฉพาะอุกกาบาตหินจะมีเอกลักษณ์ที่แตกต่างจากหินทั่วไปคือมี “เปลือกหลอม” (fusion crust) เป็นเปลือกบาง ๆ สีดำประกาย เกิดจากการเผาไหม้ขณะอยู่ในชั้นบรรยากาศ และมักจะมีสีเข้มกว่าหินทั่วไป ส่วนอุกกาบาตเหล็กจะมีสีดำคล้ำและมีร่องรอยปรากฏเป็นร่องหลุมโค้งเว้า (regmaglypt) คล้ายกับรอยนิ้วโป้งที่กดลงบนก้อนดินน้ำมัน
- ไม่มีรูพรุนเด็ดขาด เนื่องจากอุกกาบาตทุกประเภทก่อตัวขึ้นในอวกาศ ภาวะปราศจากอากาศจึงทำให้การก่อตัวของอุกกาบาตที่มีรูพรุนเป็นไปไม่ได้
- ดูดติดกับแม่เหล็ก ใช้แม่เหล็กมาช่วยตรวจสอบ โดยทั่วไปอุกกาบาตเกือบทุกประเภทจะดูดติดกับแม่เหล็กได้ แต่ถึงแม้วัตถุสามารถดูดติดแม่เหล็กได้ก็ไม่ได้หมายความว่ามันคืออุกกาบาต 100 เปอร์เซ็นต์ แต่ก็สามารถสันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่าอาจจะเป็นอุกกาบาต
อ้างอิง
สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส