นอกจากจะเป็นคืนเฉลิมฉลองเทศกาลฮาโลวีนและลอยกระทงแล้ว วันที่ 31 ตุลาคม 2563 ยังมีปรากฏการณ์ดวงจันทร์เต็มดวงที่น่าสนใจ น่าสังเกตการณ์พ่วงอีกถึง 2 อย่าง นั่นคือ ดวงจันทร์ไกลโลกที่สุดในรอบปี หรือ ‘Micro Full Moon’ และ ‘Blue Moon’ (ที่ไม่ได้มีความหมายว่าดวงจันทร์จะเป็นสีน้ำเงิน) อีกด้วย

สำหรับดวงจันทร์ไกลโลกที่สุดในรอบปี หรือ Micro Full Moon จะเกิดขึ้นในวันที่ 31 ตุลาคม 2563 ที่ระยะห่าง 406,153 กิโลเมตร คืนดังกล่าวจะสังเกตเห็นดวงจันทร์เต็มดวงมีขนาดปรากฏเล็กกว่าปกติเล็กน้อย เหมาะแก่การถ่ายภาพ แล้วนำภาพถ่ายดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี ในวันที่ 8 เมษายน 2563 มาเปรียบเทียบ ทำให้เราได้เห็นขนาดปรากฏที่เปลี่ยนแปลงตามระยะห่างในแต่ละช่วงของดวงจันทร์ได้เป็นอย่างดี

ภาพแสดงการเปรียบเทียบขนาดดวงจันทร์เต็มดวงไกลโลกที่สุดในรอบปีและดวงจันทร์เต็มดวงใกล้โลกที่สุดในรอบปี ของปี 2562

สำหรับการถ่ายภาพนั้น พี่แจ็ค ศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ของสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ได้แนะนำใช้วิธีการถ่ายภาพดวงจันทร์แบบต่อเนื่อง หลาย ๆ สิบภาพแล้วนำภาพทั้งหมดไป Stacking ในโปรแกรม RegiStax เพื่อให้ได้ภาพดวงจันทร์ที่คมชัดที่สุด (อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับการถ่ายภาพดาราศาสตร์เพิ่มเติมได้ที่บทความนี้)

นอกจากเป็นวันที่ดวงจันทร์เต็มดวงอยู่ไกลโลกมากที่สุดในรอบปีแล้ว จันทร์ในคืนฮาโลวีนนี้ยังเป็น ‘Blue Moon’ หรือ จันทร์เต็มดวงครั้งที่ 2 ของเดือนด้วย สำหรับจันทร์เต็มดวงครั้งแรกของเดือน ตรงกับวันที่ 2 ตุลาคม ที่ผ่านมา นั่นทำให้เดือนตุลาคมปีนี้ มีความพิเศษ คือเป็นทั้งคืนฮาโลวีนของฝรั่ง คืนลอยกระทงของไทย แถมยังพ่วงด้วยดวงจันทร์ไกลโลกที่สุดในรอบปี และยังเป็น ‘Blue Moon’ อีกด้วย

ไหน ๆ ก็จะฉลองกันแล้ว ก็ลองเงยหน้ามองฟ้าสังเกตดูว่าดวงจันทร์คืน 31 ตุลาคมนี้ แตกต่างไปจากเดิมหรือไม่ มาครบหลายวาระแบบนี้เกิดขึ้นไม่บ่อยนักหรอกนะเออ

อ้างอิง

สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)

NASA

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส