จากประเด็น ‘การปิดช่องทางการสื่อสาร’ หรือ ‘ปิดบังข้อมูล’ ในโลกโซเซียลหรืออินเทอร์เน็ต ที่ทำให้บรรดาผู้เสพสื่อและใช้งานเว็บไซต์ ‘Pornhub’ พากันหัวร้อน (รวมถึงขบขัน) ตั้งกระทู้วิพากษ์วิจารณ์ ตลอดจนสรรหาวิธีการต่าง ๆ เพื่อแก้ไขหรือสืบหาข้อมูลที่เกี่ยวข้อง ทำให้เหตุการณ์ยิ่งบานปลายไปกันใหญ่ จากคนรู้ไม่กี่คนกลายเป็นยิ่งรู้กันเป็นวงกว้าง ยิ่งปิดกลายเป็นยิ่งดัง แถมทำไปทำมากลับมีแต่คนเห็นใจ ใคร่รู้และแสวงหามากกว่าเดิม… รู้หรือไม่ ภาวะแบบนี้มันมีชื่อเรียกด้วยนะ

‘ปิดลั่นสนั่นเมือง’ เกิดขึ้นได้อย่างไร

ในโลกยุคปัจจุบัน มีช่องทางการสื่อสารมากมายพร้อมถ่ายทอดนานาเรื่องราวที่เกิดขึ้น ราวกับแม่น้ำที่มีสาแหรกเป็นคูคลองจำนวนมาก การ ‘ปิดกั้น’ ข้อมูลในช่องทางใดช่องทางหนึ่งจึงเปรียบเสมือนกับการสกัดกั้นช่องทางส่งน้ำเพียงเส้นทางหนึ่งเท่านั้น ‘น้ำ’ หรือ ‘ข้อมูล’ ดังกล่าวก็ยังสามารถไหลไปยังช่องทางอื่นได้ แถมบางครั้งบางคราวยังแทรกซึมตามร่องหลืบจนเกิดเป็นช่องทางการสื่อสารใหม่ ๆ ได้อีกด้วย

มากกว่ากระแสข้อมูลที่ไหลไปได้ หลายครั้งสิ่งที่ถูกสกัดกั้นเหล่านั้นก็กลับกลายเป็นยิ่งดัง และยิ่งถูกพูดถึงมากกว่าเดิมเสียอีก หากเปรียบกับสำนวนไทย คงเข้าข่าย ‘ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ’ ทว่า ปรากฏการณ์นี้มันเกิดขึ้นเพราะอะไรกัน

ในช่วงศตวรรษที่ 20 นักสังคมวิทยาชาวอเมริกัน โรเบิร์ต เค. เมอร์ตัน (Robert K. Merton) ได้ให้คำนิยามเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่ไม่ตรงกับความตั้งใจนี้ ในเชิงสังคมศาสตร์ (Social sciences) ไว้ว่าเป็น ผลลัพธ์ที่ไม่คาดคิด (unintended consequences or unanticipated consequences or unforeseen consequences) มีทั้งหมด 3 รูปแบบด้วยกัน คือ

  • ผลประโยชน์ไม่คาดคิด (Unexpected benefit) – ผลลัพธ์เชิงบวกที่ไม่คาดว่าจะเกิดขึ้นมาก่อน เช่น โชคลาภ การพบสิ่งของที่ไม่คิดว่าจะหาเจอ เป็นต้น
  • ข้อเสียไม่คาดคิด (Unexpected drawback) – ความเสียหายหรือผลพวงที่เลวร้าย ซึ่งไม่คาดว่าจะเกิดขึ้น เช่น การสร้างเขื่อนเพื่อการชลประทาน ซึ่งอาจไปเปลี่ยนทิศทางของน้ำ ทำให้พื้นที่ปลายทางเกิดความแห้งแล้ง
  • ผลลัพธ์ที่ไม่เหมาะสม (Perverse result) – ผลลัพธ์ผิดเพี้ยนตรงกันข้ามกับสิ่งที่ตั้งใจไว้ในตอนแรก (ตั้งใจแก้ปัญหาแต่กลับแย่ลง)

ดูทรงแล้วเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในทำนอง ‘ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ’ นี้น่าจะเข้าข่ายแบบที่สาม แต่ยัง ยังไม่จบ นี่เป็นเพียงชื่อของผลลัพธ์ แต่ตัวเหตุการณ์นั้นล่ะ มันเกิดขึ้นเพราะอะไร

ในทางจิตวิทยา เมื่อมนุษย์รู้ว่า มีข้อมูลบางอย่างถูกเก็บงำ ซ่อนไว้จากพวกเขา พวกเขาจะมีแรงจูงใจในการเข้าถึงและเผยแพร่ข้อมูลนั้นมากกว่าปกติ ยิ่งความรู้สึกระแคะระคายนั้นเกิดขึ้นกับคนจำนวนมาก พฤติกรรมนี้จะก่อให้เกิดปรากฏการณ์ทางสังคมในวงกว้างยิ่งขึ้นไปอีก หากผู้คนรู้สึกว่ามีความพยายามที่จะซ่อน ลบ หรือเซนเซอร์ข้อมูล เท่าใด คนก็จะยิ่งเสาะหาและเพิ่มเติมเสริมแต่งเผยแพร่ข้อมูลนั้นยิ่งกว่าเดิม และในปัจจุบัน เหตุการณ์นี้ก็ยิ่งไปไวดังเร็วยิ่งขึ้น นั่นก็เพราะการเกิดขึ้นของเครื่องมือที่ทรงพลังอย่าง ‘อินเทอร์เน็ต’ ซึ่งช่วยให้ทั้งสืบหาข้อมูลง่าย และเผยแพร่ได้ง่ายกว่าเดิมหลายเท่า

ปรากฏการณ์ดังกล่าวเรียกว่า ‘สไตรแซนด์ เอฟเฟกต์ (Streisand effect)’ ซึ่งตั้งชื่อตามนักร้องชื่อดังชาวอเมริกัน บาร์บรา สไตรแซนด์ (Barbra Streisand) ที่พยายามระงับโครงการ California Coastal Records Project ซึ่งถ่ายรูปที่อยู่อาศัยของเธอในมาลิบู เพื่อใช้บันทึกการกัดเซาะชายฝั่งของรัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา

ภาพดั้งเดิมของบ้านพักของสไตรแซนด์ในมาลิบู เมื่อปี 2003

ความพยายามในการยุติการใช้ภาพและข้อมูลนั้น แรกเริ่มถูกส่งผ่านจดหมายเตือน แต่ทำไปทำมาก็เกิดการฟ้องร้องกันขึ้น จากที่กลัวว่าภาพบ้านของตนจะถูกเผยแพร่ในวงกว้างจึงขอให้ยุติการใช้ภาพในโครงการ แต่กลายเป็นว่าที่จริงแล้ว เดิมทีแทบไม่มีใครรู้เห็น เพราะก่อนการฟ้องร้อง มียอดเข้าชมภาพบ้านของเธอในเว็บไซต์เพียง 6 ครั้ง เท่านั้น ซ้ำการดาวน์โหลด 2 ครั้งจาก 6 ครั้งนั้นมาจากทนายความของเธอเองอีกด้วย

แต่เมื่อเป็นเรื่องราวฟ้องร้องขึ้นมา สาธารณชนและสื่อจึงมาให้ความสนใจเรื่องนี้กันอย่างล้นหลาม ข้อมูลจำนวนมหาศาลถูกทำซ้ำ ต่อเติมในรูปแบบวีดิโอ พ่วงด้วยเพลงล้อเลียนว่อนอินเทอร์เน็ต เกิดการแชร์เป็นเครือข่ายในวงกว้างมากกว่าเดิมหลายเท่า เพียงแค่เดือนเดียว มีผู้เยี่ยมชมภาพในเว็บไซต์ของโครงการมากกว่า 420,000 คน

นอกจากจะเจ็บปวดเพราะการ ‘ระงับ’ กลายพันธุ์เป็น ‘เผยแพร่’ แล้ว คดีนี้ยังถูกยกฟ้องและสไตรแซนด์ยังต้องจ่ายค่าธรรมเนียมทางกฎหมายให้กับคู่กรณี เป็นจำนวนเงินถึง 155,567 ดอลลาร์ หรือประมาณ 4.8 ล้านบาทด้วย (เศร้าจริง ๆ ได้ผลลัพธ์ที่ไม่คาดคิดทั้งแบบเลวร้ายและไม่เหมาะสมอีกในคราวเดียวเลย)

นานาเหตุการณ์ ‘ยิ่งปิดยิ่งปัง’ รอบโลก

เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ได้เกิดเฉพาะดาราคนมีชื่อเสียงเท่านั้น แต่ยังเกิดในขึ้นบ่อยครั้งกับเหตุการณ์ทางการเมืองและแวดวงธุรกิจทั้วโลก อาทิ การที่หน่วยข่าวกรองของฝรั่งเศส DCRI ลบบทความ Wikipedia ภาษาฝรั่งเศสเกี่ยวกับสถานีวิทยุทหารของ Pierre-sur-Haute ส่งผลให้บทความดังกล่าวกลายเป็นหน้าที่มีคนดูมากที่สุดในวิกิพีเดียภาษาฝรั่งเศสอยู่ชั่วระยะเวลาหนึ่ง

มีงานวิจัยเกี่ยวกับการตอบสนองของผู้ใช้โซเชียลมีเดียชาวจีนในปี 2018 พบว่า การเซนเซอร์ข้อมูลอย่างกะทันหันโดยรัฐบาลจีนและบริษัทในเครือ มักนำไปสู่ปฏิกิริยาสะท้อนกลับอย่างรุนแรง ทั้งยังไปเพิ่มความนิยมในการค้นหาข้อมูลด้วย และมีแนวโน้มที่จะส่งผลให้ทัศนคติและพฤติกรรมทางการเมืองของผู้ใช้โซเซียลมีเดียเปลี่ยนไปอย่างถาวรเลยทีเดียว

กระทั่งล่าสุด เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2020 บริษัท Apple ได้ยื่นคำร้องขอให้ยุติการขายหนังสือ App Store Confidential ฉบับภาษาเยอรมันที่เขียนโดยทอม ซาโดวาสกี (Tom Sadowski) ชาวเยอรมันอดีตผู้จัดการของ Apple App Store โดยอ้างว่า มีข้อมูลทางธุรกิจที่เป็น ‘ความลับ’ อยู่ในนั้น ส่งผลให้หนังสือขึ้นสู่อันดับ 2 ของหนังสือขายดีของ Amazon ในเยอรมันทันทีและคาดว่าจะมีการพิมพ์ครั้งที่สองด้วย (โชคดีซะงั้น)

จากที่ยิ่งปิดบัง ผู้คนจึงยิ่งกระเสือกกระสนค้นหาข้อมูลเพิ่ม แถมยังส่งผลต่อทัศนคติของคนที่ถูกห้ามด้วย ย้อนกลับมาที่เหตุการณ์ในประเทศเรา ปรากฏการณ์ ‘พรฮับ’ ก็ถือว่าเข้าข่าย ยิ่งปิดบังซ่อนเร้น คนที่ค้นหาความเชื่อมโยง อยากรู้ อยากดู เป็นประเด็นร้อนที่เสิร์ชหาหนักกว่าเดิมเสียอีก ก็ไม่รู้ว่า ความคิดที่จะ ‘ปิด’ นี้มีต้นตอมาจากที่ใด แต่ที่แน่ ๆ มันไม่เวิร์คอย่างเป็นสากลเลยนะเธอ … สไตรแซนด์ ไม่ได้กล่าว (แค่โผล่มาโชว์เคสตัวอย่างให้ดูเฉย ๆ เอง)

อ้างอิง

en.m.wikipedia.org / en.m.wikipedia.org 2

พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส