เชื่อว่าคออนิเมะหลายคนคงเคยได้ดูเรื่อง ‘เซลล์ขยันพันธุ์เดือด’ หรือ ‘Cells at Work!’ กันมาบ้าง นอกจากความสนุกแล้ว เนื้อเรื่องก็ดีมีสาระไม่น้อย แถมรายละเอียดต่าง ๆ อย่างเมืองในเซลล์ก็ยังทำออกมาได้ดี ทำให้เราเห็นภาพการทำงานต่าง ๆ ของเซลล์และระบบภายในร่างกายได้ชัดเจนขึ้นด้วย จนแอบคิดไม่ได้เลยว่า ถ้าหนังสือเรียนวิชาชีววิทยาเป็นแบบนี้บ้าง เด็กนักเรียนก็คงจะเรียนด้วยความสนุกและเข้าใจขึ้นอีกหลายขุมเลย
ล่าสุด ภาพสวยๆ เหล่านั้นไม่ได้มีแค่ในการ์ตูนอีกต่อไป เมื่อเราพบข้อมูลจากเฟซบุ๊กของอาจารย์ Jessada Denduangboripant ที่น่าสนใจมาก เป็นภาพจำลองเซลล์ที่ละเอียดที่สุดตั้งแต่เคยมีมา ของโครงสร้างของสิ่งต่างๆ หรือออร์กาเนล (Organelle) ที่อยู่ภายในเซลล์ 1 เซลล์ของร่างกายมนุษย์ โดยในเฟซบุ๊กดังกล่าวได้ให้ข้อมูลว่านักวิทยาศาสตร์ ได้ใช้ทั้งข้อมูลจากเอกซเรย์ (X-ray) นิวเคลียร์ แมกเนติก เรสโซแนนซ์ (Nuclear magnetic resonance) และกล้องจุลทรรศน์แบบไครอิเล็กทรอนิก (Cryo electronic microscopy) มาประมวลเข้าด้วยกันจนทำให้เกิดภาพที่น่าตื่นตานี้ขึ้น
ด้วยความประทับใจในความสวยแฟนตาซี มีรายละเอียดชัดเจน เราจึงสืบต่อไปว่า ภาพนี้มาจากที่ใด และมีภาพทำนองนี้อีกไหม แล้วก็เจอเว็บไซต์ต้นตอ Cell Signaling Technology ที่ทำภาพนี้ออกมา ซึ่งนอกจากภาพนี้แล้ว ยังมีภาพของส่วนต่าง ๆ ภายในเซลล์อีกหลายมุม
และไม่ใช่แค่ภาพนิ่งไม่มีอะไร หากเราคลิกที่ภาพในแต่ละส่วนที่ว่า ระบบจะรันโปรแกรมพิเศษให้เราเลือกจิ้มดูศึกษาแต่ละชิ้นแต่ละส่วนอย่างลงลึกอีกด้วย หากใครจะใช้ในการศึกษาก็น่าจะช่วยให้เข้าใจการทำงานและความเชื่อมโยงภายในเซลล์ได้ดีขึ้น
เซตภาพการเรียนรู้เซลล์นี้มีชื่อเรียกว่า ‘Cellular Landscapes’ หรือ ‘ภาพภูมิทัศน์ของเซลล์’ เป็นภาพเหมือนจริงของของโครงสร้างเซลลูลาร์ต่าง ๆ ได้แก่
Adhesion
การยึดติด (Adhesion) – ส่วนที่ประกอบไปด้วยโครงสร้างของเซลล์และโปรตีนที่เกี่ยวข้องกับการยึดเกาะของเซลล์รวมถึง adherens junction ด้วย
Mitochondria
ไมโตคอนเดรีย (Mitochondria) – เป็นภูมิทัศน์ระดับโมเลกุลแสดงถึงการถ่ายทอดสัญญาณของเซลล์โดยส่งผ่านโปรตีนในกระบวนการตายของเซลล์ (ขวาบน) ระบบยูบิควิตินกับการย่อยสลายโปรตีน (ด้านล่าง)
Protein Synthesis
การสังเคราะห์โปรตีน (Protein Synthesis) – ภูมิทัศน์ที่แสดงถึงโปรตีนที่สำคัญและโครงสร้างย่อยของเซลล์ที่เกี่ยวข้องกับการสังเคราะห์โปรตีนรวมถึงการลอกรหัสพันธุกรรม (ด้านล่าง) นิวเคลียร์พอร์ (รูของเยื่อหุ้มนิวเคลียส ) (กลางซ้าย) การแปลรหัส (ซ้ายบน) และร่างแหเอนโดพลาซึม (ขวาบน)
Receptor Tyrosine Kinase: RTK
หน่วยรับไทโรซีนไคเนส (Receptor Tyrosine Kinase: RTK) – ตามชื่อเลย แสดงเส้นทางการส่งสัญญาณตัวรับไทโรซีนไคเนส (RTK)
Vesicle Trafficking
กระบวนการทางชีววิทยาที่ลำเลียงวัสดุระหว่างเซลล์ (Vesicle Trafficking) – ภูมิทัศน์ที่แสดงถึงเส้นทางและโครงสร้างที่สำคัญใน รวมถึงการดัดแปลงหลังการแปลรหัส (ขวา) การเข้า-ออกของ Golgi และpost-Golgi (กลาง) สารโครงร่างของเซลล์ (ด้านบน) และส่วนย่อยสลายของเซลล์ (ซ้าย)
แต่ละภาพไม่น่าเชื่อเลยว่าจะอยู่ในร่างกายเราจริงๆ ใครสนใจอยากเข้าไปเรียนรู้รายละเอียดต่าง ๆ ของแต่ละโครงสร้างเพิ่มเติม คลิกเข้าไปเยี่ยมชมกันได้ที่ ลิงก์นี้ ในนั้นจะมีหัวข้อให้เรียนรู้กันตามภาพด้านบน เมื่อกดเข้าไปที่ภาพ ระบบจะแสดงหน้าต่างขึ้นมาอีกอัน ซึ่งเราสามารถเลือกดูรายละเอียดของแต่ละส่วนได้เลย โดยส่วนที่เลือกจะขึ้นสีสันสดใส และส่วนที่ไม่เลือกจะแสดงเป็นภาพขาวดำ ทำให้เราแบ่งแยกส่วนประกอบภายในเซลล์ได้ดียิ่งขึ้นด้วย
เรียกว่าทั้งสวย ทั้งเสริมสร้างจินตนาการ แถมยังดูง่ายและเห็นภาพรวมด้วย ถือว่าลงรายละเอียดได้ดีมาก ๆ เลย จะตามไปศึกษา หรือจะตามดูความว้าวก็ไปกันได้โลดไม่มีปวดหัวแน่นอน
อ้างอิง
เฟซบุ๊กของอาจารย์ Jessada Denduangboripant
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส