เวียนมาอีกครั้งกับฝนดาวตกสุกสกาวแห่งปี กับ ‘ฝนดาวตกลีโอนิดส์’ ราชาแห่งฝนดาวตก ที่จะมาเยือนหลังเที่ยงคืนวันที่ 17 พ.ย. 63 จนถึงรุ่งเช้าวันที่ 18 พ.ย. 63 แถมรอบนี้ยังไม่มีแสงจันทร์รบกวนด้วย เห็นได้ทั่วไทยเลยทีเดียว
นายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กล่าวว่า “ฝนดาวตกลีโอนิดส์” หรือ “ฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต” เป็นฝนดาวตกที่เกิดขึ้นในช่วงวันที่ 6 – 30 พฤศจิกายน ของทุกปี สำหรับปีนี้จะสังเกตได้ตั้งแต่หลังเที่ยงคืนวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 ไปจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 18 พฤศจิกายน 2563 ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ บริเวณใกล้กลุ่มดาวสิงโต ในคืนดังกล่าวไร้แสงจันทร์รบกวน สามารถชมได้ตลอดทั้งคืน อัตราการตกสูงสุดเฉลี่ย 10-15 ดวงต่อชั่วโมง
นายศุภฤกษ์อธิบายเพิ่มเติมว่า เหตุที่เรียกว่า เป็น ‘ราชาฝนดาวตก’ นั่นก็เพราะฝนดาวตกลีโอนิดส์มีความสว่างมากที่สุด เป็นฝนดาวตกเกิดจากสายธารเศษฝุ่นของดาวหาง 55พี เทมเพล-ทัตเทิล (55P Tempel-Tuttle) ที่ยังหลงเหลืออยู่ในวงโคจรของดาวหางตัดผ่านวงโคจรของโลก ทำให้เศษฝุ่นของดาวหางเหล่านั้นเสียดสีกับชั้นบรรยากาศโลก เกิดการเผาไหม้จนเห็นเป็นแสงสว่างวาบคล้ายลูกไฟวิ่งพาดผ่านท้องฟ้า ทิศทางวงโคจรของฝนดาวตกลีโอนิดส์สวนทางกับทิศทางวงโคจรของโลกรอบดวงอาทิตย์ ทำให้ความเร็วของเม็ดฝุ่นที่เข้ามาเสียดสีกับบรรยากาศโลกมีความเร็วค่อนข้างมาก คือ 71 กิโลเมตรต่อวินาที
ฝนดาวตกนี้สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หากชมในที่มืดสนิทจะยิ่งเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ก่อนชมควรใช้เวลาปรับสายตาในที่มืด ประมาณ 30 นาที เพื่อให้สายตาคุ้นเคยกับความมืด และแนะนำให้นอนรอชม เนื่องจากฝนดาวตกกระจายทั่วท้องฟ้า
สำหรับการบันทึกภาพฝนดาวตกนั้น ไม่สามารถระบุทิศทางได้ ต้องอาศัยการคาดเดาและเปิดหน้ากล้องค้างไว้ให้ดาวตกวิ่งผ่านหน้ากล้อง ผู้สนใจสามารถเตรียมตัวและอุปกรณ์ให้พร้อมสำหรับช่วงเวลาดังกล่าว
ฝนดาวตกน่ะมาแน่ ๆ แต่ไม่รู้ว่าฝนจะตกรึเปล่า คงจะต้องตามดูตามลุ้นให้ฟ้าใสในคืน 17-18 พ.ย. กันหน่อยล่ะ
ขอบคุณข้อมูลจาก สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน)
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส