2 ธันวาคม สำนักงานอาหารของนครรัฐสิงคโปร์ได้อนุญาตให้ Eat Just บริษัทเกิดใหม่ของสหรัฐฯ ที่ผลิตไข่จากพืชสามารถขายเนื้อไก่ที่เพาะเลี้ยงจากเซลล์ในห้องแล็บมาใช้เป็นส่วนผสมของนักเก็ตให้กับร้านอาหารในสิงคโปร์ ซึ่งเริ่มต้นบริษัทจะปล่อยเนื้อไก่เพาะเลี้ยงออกมาเล็กน้อยสำหรับร้านอาหารเพียงหนึ่งร้าน และอนาคตจะขยายการผลิตเพิ่มขึ้นตามความต้องการของผู้บริโภค
ก่อนหน้านี้ผู้ชื่นชอบมังสวิรัติได้หันมาสนใจรับประทานเนื้อสัตว์ที่ทำจากพืช ซึ่งบริษัทที่ผลิต ได้แก่ Beyond Meat และ Impossible Foods โดยวางขายในรูปแบบของเบอร์เกอร์เนื้อที่ร้าน Burger King และไก่ทอดที่ Kentucky และ KFC ในประเทศสหรัฐฯ (บางรัฐ)
ส่วนเนื้อสัตว์แบบเพาะเลี้ยงถือว่าเป็นทางเลือกใหม่ที่ไม่ทำให้คนกินต้องผิดศีล เพราะไม่ได้ฆ่าสัตว์ ทั้งให้รสชาติและคุณค่าทางอาหารเหมือนเนื้อสัตว์จริงทุกประการ การเพาะเลี้ยงมีปลอดภัยไม่ต้องกลัวโรคระบาดเหมือนเนื้อสัตว์ที่มาจากฟาร์ม และลดการทำลายสิ่งแวดล้อมในการบุกรุกป่าเพื่อปลูกพืชที่เป็นอาหารของสัตว์
อย่างไรก็ตาม เนื้อสัตว์แบบเพาะเลี้ยงจะมีความจำกัดที่ต้องใช้ต้นทุนในการผลิตที่สูง ซึ่งบริษัทเปิดเผยว่าการผลิตเนื้อสัตว์ในถัง 1,000 ลิตรต้องใช้เงินทุนมากถึงหลายสิบล้านดอลลาร์ ดังนั้นหากตลาดมีความต้องการจำนวนมากก็จะต้องรอการขยายการผลิตให้เพิ่มมากขึ้น
เดือนที่ผ่านมา SuperMeat บริษัทเกิดใหม่ของอิสราเอลที่พัฒนาเนื้อไก่เพาะเลี้ยงได้นำร่องนำเนื้อไก่เพาะเลี้ยงมาทำเป็นเบอร์เกอร์ไก่ให้กินฟรีในร้านอาหารแห่งหนึ่งในอิสราเอล หลังจากที่บริษัทได้ใช้เวลาพัฒนามานานถึง 3 ปี แต่การนำเนื้อไก่เพาะเลี้ยงมาทำอาหารในครั้งนี้ยังไม่ได้รับอนุญาตจากหน่วยงานของรัฐ ซึ่งจัดทำขึ้นเพื่อขอรับข้อเสนอแนะไปพัฒนาปรับปรุงเท่านั้น
ส่วน Eat Just กว่าจะได้ใบอนุญาตต้องดำเนินการตามกฎระเบียบและผ่านกระบวนการตรวจสอบอย่างละเอียดจากหน่วยงานกำกับดูแลของรัฐเป็นเวลาสองปี ที่สำคัญต้องแสดงศักยภาพว่าสามารถสร้างผลผลิตออกมาได้อย่างสม่ำเสมอ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่า Eat Just จะได้ใบอนุญาตจากสิงคโปร์เป็นประเทศแรก แต่การขออนุญาตในประเทศอื่น ๆ ก็ไม่ได้เป็นเรื่องง่าย เพราะหลายประเทศจะมีที่ดินและเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ที่สามารถผลิตเนื้อสัตว์สำหรับเลี้ยงประชากรในประเทศได้อย่างเพียงพอ นอกจากนี้การผลิตเนื้อสัตว์เพาะเลี้ยงได้กลายเป็นคู่แข่งของอาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์โดยตรง ดังนั้นอาจจะต้องเจอแรงต้านและใช้เวลามากกว่าในสิงคโปร์ก็ได้
ที่มา : engadget และ fastcompany ภาพปกจาก : Eat Just
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส