10 ธันวาคม NASA และ Boeing ได้เผยกำหนดการภารกิจแก้มือ Orbital Flight Test-2 (OFT-2) ทดสอบเที่ยวบินไร้ลูกเรือไปยังสถานีอวกาศนานาชาติครั้ง 2 ของยานอวกาศ CST-100 Starliner ด้วยจรวด Atlas V ของบริษัท United Launch Alliance (บริษัทร่วมทุนระหว่าง Lockheed และ Boeing) ในวันที่ 29 มีนาคม 2021 จากฐานยิงจรวด Space Launch Complex 41 (SLC-41) ที่สถานีกองทัพอากาศ Cape Canaveral รัฐฟลอริดาและหลังจากนั้นประมาณหนึ่งสัปดาห์ก็จะบินกลับมาลงจอดทางภาคตะวันตกของสหรัฐฯ
ปี 2014 โปรแกรม Commercial Crew ของ NASA ได้ประกาศเลือก Boeing และ SpaceX ในการขนส่งลูกเรือของสหรัฐฯ ไปและกลับจากสถานีอวกาศโดยใช้ยานอวกาศ CST-100 Starliner ของ Boeing ด้วยงบมูลค่า 4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ และ Crew Dragon ของ SpaceX ด้วยงบมูลค่า 2.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีเป้าหมายเพื่อยุติการพึ่งพารัสเซีย
ยาน Boeing Starliner ได้มีการทดสอบใหญ่มาแล้ว 2 ครั้ง ได้แก่ Pad abort test ทดสอบดีดตัวขึ้นจากฐานปล่อย เมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2019 ซึ่งแคปซูลสามารถออกจากฐานปล่อยได้ ขณะลงจอดหนึ่งในสามของร่มชูชีพทำงานล้มเหลว แต่ก็สามารถลงจอดได้จนภารกิจสำเร็จ และการทดสอบ First orbital flight ทดสอบการบินสู่วงโคจรโดยไม่มีลูกเรือ เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2019 ภารกิจล้มเหลวในบางส่วน คือ ขณะที่ส่งยานไปยังสถานีอวกาศนานาชาติกลับพลาดใช้เชื้อเพลิงมากเกินไปจนต้องเดินทางกลับสู่โลกก่อนที่จะไปถึง แต่ก็สามารถไปสู่วงโคจรและลงจอดได้สำเร็จ
เดือนมีนาคมที่ผ่านมาทีมของ NASA และ Boeing ได้ร่วมกันตรวจสอบหาข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้น จากนั้นเดือนกรกฎาคม NASA ได้เปิดเผยผลการตรวจสอบขั้นสุดท้ายที่เสร็จสมบูรณ์ ซึ่งทีมงานได้มีข้อแนะนำให้มีการปรับปรุงการทดสอบและการจำลองสถานการณ์ รวมทั้งการเพิ่มการทดสอบแบบครบทุกขั้นตอน (End to End) ก่อนในแต่ละเที่ยวบินโดยใช้ฮาร์ดแวร์ที่มีความเที่ยงตรงสูงสุด
ดังนั้นในภารกิจ Orbital Flight Test-2 จะมีการทดสอบครบทุกขั้นตอนตั้งแต่การปล่อยยาน การเชื่อมต่อเทียบท่าและแยกออกจากท่าสถานีอวกาศนานาชาติ (ISS) และการลงจอดเมื่อบินกลับสู่โลก ซึ่งจะใช้ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่มีความเที่ยงตรงสูง เพื่อพิสูจน์ว่าพร้อมที่จะทดสอบเที่ยวบินส่งลูกเรือ
หากภารกิจ Orbital Flight Test 2 สำเร็จ ยาน Starliner ก็จะเข้าสู่การทดสอบเที่ยวบินส่งลูกเรือครั้งแรก (First crewed test flight) และจะได้เข้าร่วมโครงการขนส่งลูกเรือเชิงพาณิชย์ (Commercial Crew Program) เพื่อส่งนักบินอวกาศไปยังสถานีอวกาศนานาชาติในโอกาสต่อไป
ที่มา : cnet
พิสูจน์อักษร : สุชยา เกษจำรัส