วลีเก่าแก่ที่ว่า You are what you eat (คุณกินอะไรเข้าไป คุณก็เป็นอย่างนั้น) กำลังจะเป็นจริงแล้วในอนาคตอันใกล้นี้ เพราะนักวิทยาศาสตร์ได้ประกาศความสำเร็จในการคิดค้น DIY meal kit (ชุดสร้างมื้ออาหารด้วยตัวเอง) ด้วยชุดสำเร็จรูปนี้ เราจะสามารถเลี้ยงเนื้อเยื่อจากเซลล์มนุษย์ให้เติบโตได้ในจานทดลอง เจ้าของไอเดียนี้ภาคภูมิใจถึงกับจะส่งผลงานเข้าชิงรางวัลใหญ่ design of the year ที่จัดโดยพิพิธภัณฑ์แห่งชาติกรุงลอนดอน
ผลิตภัณฑ์นี้ถูกตั้งชื่อว่า Ouroboros Steak ตามชื่อของสัญลักษณ์โบราณที่เป็นภาพงูกินหางตัวเองอย่างที่เราคุ้นตากัน ชุดสร้างเนื้อเยื่อสำเร็จรูปนี้วางแผนไว้ว่าจะออกจำหน่ายโดยทั่วไปในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ ในชุดนี้จะมาพร้อมกับอุปกรณ์ที่ครบถ้วนในการที่เราจะดึงเซลล์บางส่วนของเราเองมาปลูกถ่ายในจานเพาะเลี้ยงเพื่อทำสเต๊กจากเนื้อเยื่อของเราเอง แค่นึกภาพตามก่อนกระอักกระอ่วนเสียแล้ว ซึ่งไม่น่าจะมีใครรับประทานได้ลง ไม่ว่าจะเป็นเนื้อจากตัวเราเอง หรือเนื้อของใครก็ตาม ทางทีมผู้คิดค้นก็ตระหนักถึงข้อนี้ดีว่าการสร้างวัฒนธรรมแบบนี้ขึ้นมาอาจดูเหมือนว่าเราจะกลายเป็น cannibalism (คนกินเนื้อคน)
“ผู้คนต่างคิดไปตาม ๆ กันว่าการกินเนื้อตัวที่เพาะเลี้ยงขึ้นมาเองนี้ก็เท่ากับเราจะกลายเป็นพวก cannibalism แต่ถ้ามองตามหลักการแล้ว มันไม่ใช่อย่างนั้นนะคะ”
เกรซ ไนต์ หนึ่งในทีมผู้คิดค้นพยายามอธิบาย ซึ่งไม่ได้ช่วยให้กระจ่างขึ้นมาเลย
ถ้าเราซื้อชุดเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนี้มาใช้ ก็ไม่ใช่ว่าจะได้กินภายในไม่กี่วัน หรือไม่กี่ชั่วโมงนะครับ แต่ต้องใช้เวลาถึง 3 เดือนกว่าจะได้เนื้อในปริมาณที่พร้อมรับประทาน แล้วเซลล์ที่จะนำมาเพาะนี้ก็ไม่ต้องเจาะหรือตัดชิ้นส่วนไหนของร่างกาย แต่กวาดมาจากด้านในกระพุ้งแก้มนั่นเอง
โครงการเพาะเนื้อเยื่อตัวเองนี้ถูกมองจากสายตารอบข้างว่าเป็นส่วนหนึ่งในอุตสาหกรรม การเพาะเลี้ยงเนื้อสัตว์จากห้องแล็บเพื่อการบริโภค แต่ทีมผู้คิดค้นบอกว่าโครงการของพวกเขายังไม่จัดอยู่ในทิศทางเดียวกับกลุ่มนั้น เพาะกระบวนการของพวกเขายังไม่ถือว่าเป็นมิตรกับสัตว์โลก (animal-friendly) อย่างที่เข้าใจกัน เพราะกระบวนการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนี้ยังต้องอาศัยซีรัมที่ได้จากตัวอ่อนวัว (fetal bovine serum: FBS) ซึ่งซีรัม FBS นี้ก็ได้มาจากเลือดของแม่วัวที่กำลังตั้งท้องซึ่งต้องโดนฆ่าก่อนเพื่อจะเอาเลือดมา
ส่วนตัวอย่างเนื้อที่เห็นในภาพประกอบนี้ ถูกจัดโชว์ในพิพิธภัณฑ์ ทีมผู้คิดค้นได้ติดต่อซื้อตัวอย่างเซลล์มาจาก the American Tissue Culture Collection (ทำไมไม่ใช้เนื้อเยื่อของทีมเองก็ไม่รู้นะ) แล้วการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนี้ก็ต้องใช้เลือดมนุษย์เป็นองค์ประกอบ (เริ่มน่ากลัวขึ้นเรื่อย ๆ ล่ะ) ส่วนตัวอย่างที่นำมาโชว์นี้ ทางทีมได้ไปขอบริจาคเลือดที่หมดอายุแล้วมาจากหน่วยงานทางการแพทย์ แล้วตัวอย่างที่เห็นนี้ก็จะไม่บูดเน่า เพราะถูกเคลือบทับไว้ด้วยเรซินแล้ว
ลองนึกภาพตามนะ วันหนึ่งในอนาคต ไปบ้านเพื่อน เพื่อนทำสเต๊กให้กิน แล้วมาเฉลยทีหลังว่า
“ที่กินไปเมื่อกี้นี้ เนื้อเราเองแหละ”